xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิรัตน์” ลั่นโซลาร์ฯ สูบน้ำเดิมไม่เสร็จภายในสิ้น มี.ค.นี้ตัดงบอนุรักษ์ฯ ทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิรัตน์” ขีดเส้นโครงการโซลาร์สูบน้ำเพื่อการเกษตรที่ของบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 2561-62 เดิมต้องเสร็จภายในสิ้น มี.ค.นี้ หากเลยตัดงบฯ ทันที ส่วนงบปี 2563 ยังคงเดินหน้าโครงการเพื่อรับมือภัยแล้งต่อ แต่จะคุมเข้มให้เสร็จตามเวลาไม่มีต่ออายุแน่นอน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปีงบประมาณ 2563 วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท จะยังคงนำมาสนับสนุนการดำเนินโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรในการลดผลกระทบปัญหาภัยแล้งให้แก่ภาคการเกษตรของไทย โดยจะมีการปรับยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการให้มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยจะกำหนดให้เสร็จสิ้นตามระยะเวลาที่กำหนดไม่มีการต่ออายุโครงการเพื่อการติดตั้งแต่อย่างใด

"ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้งบในการสนับสนุนโซลาร์สูบน้ำบาดาลเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการเกษตรปี 2561-62 ซึ่งการดำเนินงานมีความล่าช้าในขั้นตอนการปฏิบัติจนทำให้เกิดการขอต่ออายุ โดยได้กำหนดไปแล้วว่าโครงการที่เหลือจะต้องติดตั้งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 หากไม่เสร็จจะยกเลิกการสนับสนุน และเมื่อเปิดให้ยื่นงบปี 2563 ใหม่เราจะดูพื้นที่ภัยแล้งระหว่างโครงการเก่ากับใหม่ก่อนที่จะอนุมัติเงินสนับสนุน จะไม่ให้เกิดล่าช้าและการขอต่ออายุอีกเช่นเดิม" นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ ยืนยันว่าการจัดสรรโครงการของกองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานตามกรอบวงเงินเฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาทเริ่มปีงบประมาณ 2563 จะดำเนินการอย่างโปร่งใส โดยมีการตั้งอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ขึ้นมาดูแลติดตาม ซึ่งต้องยอมรับว่ามีผู้สนใจที่จะขอใช้งบฯ เป็นจำนวนมาก

รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) กระทรวงพลังงาน ได้เปิดให้ยื่นลงทะเบียนผู้ดูแลระบบ (ADMIN) ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการสร้างบัญชีโครงการและให้สิทธิชื่อพร้อมรหัสเข้าระบบของโครงการให้ผู้จัดการโครงการสำหรับการยื่นขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ปีงบประมาณ 2563 โดยได้ปิดยื่นระบบเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2563 ปรากฏว่าวันสุดท้ายมีผู้ยื่นเข้ามาเป็นจำนวนมากจนระบบเกือบล่ม และขั้นตอนจากนี้ไปจะกำหนดช่วงเวลาในการยื่นขอเสนองบฯ สนับสนุนตามกรอบที่คณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์ฯ เห็นชอบมาก่อนหน้านี้ คือ งบฯ ส่วนการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ประเภทแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 50% (5,000 ล้านบาท) แผนพลังงานทดแทน 47% (4,700 ล้านบาท) และแผนบริหารจัดการของ ส.กทอ. 3% (300 ล้านบาท)

ทั้งนี้ โครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ตัวเลข ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 ได้อนุมัติโครงการฯ ไปแล้วให้กับ 160 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 1,450 ระบบทั่วประเทศ เช่น พื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดพิจิตร จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุบลราชธานี ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น