xs
xsm
sm
md
lg

ปลอดภัย! ผลทดสอบ “แบริเออร์หุ้มยางพารา” ลดแรงกระแทก วิ่ง 120 กม.ชนแล้วไม่พลิกคว่ำ-ไม่เหินข้าม​ฝั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” นำทีม ทล.-ทช.ดูการทดสอบคอนกรีตแบริเออร์หุ้มยางพาราที่เกาหลี ผลน่าพอใจ รับแรงกระแทกความเร็ว 120 กม./ชม. รถไม่พลิกคว่ำ ไม่เหินข้าม​ฝั่ง เตรียม MOU ซื้อยางตรงชาวสวนตัดพ่อค้าคนกลาง

นายศักดิ์สยาม​ ชิดชอบ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม​ พร้อมด้วย นายสราวุธ​ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง​ (ทล.) นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) และนายชยธรรม์​ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท​ ผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร​ และผู้แทนกองการต่างประเทศ​ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม​ ร่วมสังเกตการณ์การทดสอบการรับแรงกระแทกของคอนกรีตแบริเออร์หุ้มยางพารา​ (Rubber Fender Barrier : RFB) เพื่อประเมินสมรรถนะความปลอดภัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สถาบัน KATRI (Korea Automobile Testing & Research Institute)​ สาธารณรัฐเกาหลี

การทดสอบดังกล่าวใช้รถกระบะขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ​ โดยควบคุมด้วยระบบคลื่นแม่เหล็ก ด้วยความเร็วในการชน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มุมชน 20 องศา รถกระบะมีน้ำหนัก 2,000 กิโลกรัม ตามมาตรฐาน EN13146-3 (Euro Code) สรุปผลการนำเสนอดังนี้

1. สามารถทำให้รถกระบะแฉลบไปตามแนว Rubber Fender Barriers (RFB)​ ซึ่งโดยปกติการชนในลักษณะนี้ด้วยความเร็วที่ทดสอบกับแบริเออร์คอนกรีตที่ไม่ได้หุ้มยางพาราจะชนทะลุแท่งคอนกรีต

2. การชนแนว​ RFB มีค่าระยะการร่นของแบริเออร์ที่อยู่ในระยะปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ (ตามหลักการทดสอบที่ปลอดภัยการชนในลักษณะนี้ต้องมีระยะการร่นที่ไม่เกิน​ 1​ เมตร​ จากเส้นจราจร​ ผลการทดสอบครั้งนี้ทดสอบได้ระยะร่นเพียง​ 50​ เซนติเมตร)

3. Rubber Fender Barriers สามารถรับแรงกระแทกได้ดี โดยหุ่น dummy ในรถกระบะไม่กระเด็นเปลี่ยนทิศทาง (รับแรงกระแทกน้อยกว่า​ 60g) ซึ่งค่ามาตรฐานในการรับแรงกระแทกจากตัวรถมายังคนขับที่ปลอดภัยตามหลักสากลไม่ควรสูงกว่า 60g โดยการทดลองฯ วัดค่าจากอุปกรณ์ sensors ที่ติดตามหุ่น dummy (ภายใต้การคาดเข็มขัดนิรภัย)

4. แผ่นยางบนแท่งคอนกรีต​เสียหายเพียง 4 แผ่น​ บางแผ่นสามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ซึ่งปกติแผ่นยางจะหลุดเพราะการชนทำให้เกิดแรงเฉือนมากกว่า 3 ตันต่อตารางเมตร แต่ครั้งนี้ทีมงานวิจัยได้พัฒนารูปแบบการติดตั้ง RFB โดยใช้กาว epoxy ติดแผ่นยางกับแบริเออร์ ทำให้แผ่นยางติดแน่นและมีอายุการใช้งานมากกว่า 5​ ปี (จากผลการทดลองการเร่งสภาวะในห้องปฏิบัติการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)

5. รถยนต์เสียหายด้านชนเพียงด้านเดียว และไม่พลิกคว่ำ รถไม่เหินข้าม​ RFB เหมือนแบริเออร์ประเภทอื่น ซึ่งตัวรถจะได้รับความเสียหายมากกว่าเมื่อเกิดการชน


การทดสอบการชนฯ จะสามารถนำมาต่อยอดการพัฒนา RFB ต่อไป ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ถือเป็นเรื่องที่ดีในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยนำผลิตผลของยางพารามาสนับสนุนโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนของกระทรวงคมนาคมให้สามารถอำนวยความสะดวกรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ส่งเสริมสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไปในอนาคตเพื่อให้มั่นใจว่าเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับรายได้จากการผลิตและจำหน่าย RFB จากภาครัฐโดยตรง​ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง






กำลังโหลดความคิดเห็น