xs
xsm
sm
md
lg

จับตาถุงพลาสติกโฉมใหม่คลอดไตรมาส 3 หลังการแบนไม่ตอบโจทย์แก้ขยะยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมาคมอุตฯ พลาสติกไทยลุ้นภาครัฐเปิดทางผลิตถุงพลาสติกแบบใหม่ใช้แทนถุงก๊อบแก๊บในไตรมาส 3 ปีนี้โดยมีความหนาเอื้อให้เกิดการใช้ซ้ำ หลังการแบนถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อไม่ตอบโจทย์แก้ไขขยะภาพรวม เหตุไปเพิ่มขยะในส่วนของถุงผ้าและถุงกระดาษ แถมห้างฯ ร้านแห่นำถุงสปันบอนด์มาขายแทน ซึ่งจะแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกัน

นายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯ ได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวมถึงห้างสรรพสินค้าและผู้ผลิตถุงพลาสติกที่จะแก้ไขปัญหาขยะแบบยั่งยืนด้วยแนวทางการผลิตถุงพลาสติกให้มีความหนามากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการให้ประชาชนใช้ซ้ำแทนการใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยคาดว่าจะมีการผลิตถุงรูปแบบใหม่ที่จะนำไปใช้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อภายในไตรมาส 3 ปีนี้

“ถุงพลาสติกแบบใหม่นี้จะมีความหนาขึ้นมากกว่าถุงหูหิ้วหรือที่คนไทยเรียกว่าถุงก๊อบแก๊บ ซึ่งที่ผ่านมามีการผลิตให้บางเพราะลดต้นทุนทำให้เกิดปัญหาการใช้ครั้งเดียวไม่เอื้อให้มีการเก็บมากำจัดอย่างถูกต้อง โดยรูปแบบถุงใหม่เบื้องต้นน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัม (กก.) เดิมจะมี 600 ถุงก็จะให้เหลือไม่เกิน 200 ถุง ส่วนลักษณะถุงจะคล้ายๆ กับถุงโชคดีแต่หูหิ้วจะมีความแข็งแรง โดยแนวทางดังกล่าวได้มีการหารือกันแล้วเบื้องต้น ซึ่งเหตุผลสำคัญคือการที่ภาครัฐกำหนดให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 พบว่าไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาขยะในประเทศแบบยั่งยืน” นายสมชัยกล่าว

ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าวนั้น แม้ว่าจะมีการงดใช้ถุงพลาสติกได้บางส่วนในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ แต่ก็จะไปเพิ่มปริมาณขยะในส่วนของถุงผ้า ถุงกระดาษ ฯลฯ ซึ่งที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำให้ปริมาณขยะรวมของประเทศลดลงไปแต่อย่างใด ประกอบกับกระบวนการผลิตของทั้งถุงผ้าและถุงกระดาษมีต้นทุนทางพลังงานที่มากกว่า ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สูงเมื่อเทียบกับถุงพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ได้


นอกจากนี้ยังพบว่าจากการงดแจกถุงพลาสติกทำให้ห้างร้าน สรรพสินค้า ส่วนใหญ่นำถุงผ้าสปันบอนด์ หรือเรียกว่าผ้านอนวูเวน (nonwoven ) มาจำหน่ายแก่ประชาชนแทน ซึ่งถุงดังกล่าวผลิตจากพลาสติกชนิด Polypropylene (PP) ซึ่งมีข้อเสียคือแพ้แสง UV เมื่อโดนมากและปล่อยไว้ระยะหนึ่งก็จะแตกสลายได้กลายเป็นไมโครพลาสติกชนิดหนึ่งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าด้วยซ้ำ

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐกำหนดให้ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติก ทำให้ห้างร้านต่างๆ ยอมรับว่ามีแนวโน้มผู้บริโภคจะไม่เกิดความสะดวกในการจับจ่าย มีผลต่อการซื้อลดลง และยังเพิ่มภาระประชาชนในการซื้อถุงผ้า ขณะเดียวกัน ห้างร้านฯ ได้มีการนำถุงผ้าสปันบอนด์มาจำหน่ายให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้พกถุงมาเนื่องจากถุงผ้ามีราคาแพงกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งมีการนำเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย คาดว่าจะมีสต๊อกใช้ไปอีกราว 6 เดือน-1 ปี

“เราได้หารือถึงภาพรวมแล้วว่าการแก้ไขปัญหาขยะในบ้านเรานั้นหากจะให้ยั่งยืนต้องจัดการแบบยั่งยืน ด้วยการกำหนดการแยกขยะ การรีไซเคิล หรือมาแปรรูปใหม่ ฯลฯ การไปจำกัดการใช้แล้วนำอย่างอื่นมาแทนที่สร้างปัญหาขยะแล้วไม่มีการจัดการที่ดีก็ไม่ช่วยอะไรได้ แถมถุงผ้าสปันบอนด์เองแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ต่างกับสิ่งที่รัฐแบน ซึ่งข้อมูลนี้เอกชนได้เสนอรัฐแล้วและเห็นร่วมกันเบื้องต้นที่จะทำถุงใหม่ออกมาจำหน่ายแต่ต้องรอสต๊อกถุงผ้าสปันบอนด์ลดต่ำก่อน ซึ่งก็น่าจะเป็นไตรมาส 3 หรือ 4” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น