xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.จ่อนำร่องเปิดเอกชนร่วมขนส่งสินค้า “หนองคาย-แหลมฉบัง” มูลค่า 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร.ฟ.ท.เตรียมสรุปแผน เปิด PPP เอกชนร่วมลงทุน เดินรถขนส่งสินค้าเส้นทาง “หนองคาย-แหลมฉบัง” 683 กม. มูลค่า 3 หมื่นล้าน สัมปทาน 30 ปี คาดประมูลได้ปี 2564

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (เส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง) วันที่ 19 ก.พ. ว่า ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้า (PPP) ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆ จากผู้แทนจากหน่วยงานองค์กรธุรกิจภาคเอกชน นักลงทุน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน

โดยการศึกษาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) นั้น เป็นการให้เอกชนร่วมพัฒนาระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า (Rail Electrification) และบริการจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทางรวมประมาณ 683 กิโลเมตร มีมูลค่าลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) พิจารณา และเปิดประมูลได้ปี 2564 ให้บริการจริงปี 2569

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้มีโครงการที่จะเปลี่ยนจากการใช้รถจักรดีเซล (Diesel Electric Locomotive) และรถดีเซลราง (Diesel Multiple Unit : DMU) ในปัจจุบันไปเป็นรถจักรไฟฟ้า และ Electric Multiple Unit (EMU) เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้า โดยได้ทำการศึกษาความเหมาะสมการเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางคู่ 4 เส้นทาง เมื่อปี 2554

โดยผลการศึกษาได้เสนอแนะว่า การเดินรถไฟด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสมในการพัฒนามากที่สุด เพื่อลดภาระการลงทุนในส่วนของการรถไฟฯ ที่จะต้องเป็นผู้รับภาระเอง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การขนส่งทางราง ให้สามารถพัฒนาเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ จึงได้ดำเนินการศึกษาการให้เอกชนเข้ามามี ส่วนร่วมในการลงทุนและให้บริการขนส่งสินค้า ในเส้นทางหนองคาย-แหลมฉบัง (ระยะทางรวมประมาณ 683 กิโลเมตร) มูลค่าการลงทุนระยะ เริ่มแรกประมาณ 26,400 ล้านบาท (30,000 ล้านบาท ตลอดโครงการ) แบ่งเป็น ภาครัฐลงทุนระบบ OCS (Overhead Catenary System) ในขณะที่ภาคเอกชนลงทุนรถจักรไฟฟ้า รถบรรทุกสินค้า (แคร่) และอู่จอด และซ่อมบำรุง รวมทั้งการพัฒนาระบบรางเพิ่มเติม

จากผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางการเงิน (Financial Feasibility) สรุปได้ว่า ร.ฟ.ท.ควรเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในงานโครงสร้างพื้นฐานของระบบเดินรถด้วยไฟฟ้า ในขณะที่ภาคเอกชนผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในขบวนรถ และงานอู่จอดและซ่อมบำรุง รวมถึงเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรูปแบบการร่วมลงทุน PPP Net Cost ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย และสามารถพัฒนาการขับเคลื่อนการขนส่งทางราง และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 22% ระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 30 ปี

การรถไฟฯ จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาทางคู่เป็นระบบไฟฟ้าเพื่อการเดินรถในอนาคต และได้รับผลตอบแทนจากเอกชนตามสัญญา นอกจากนั้น โครงการนี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดเวลาในการขนส่ง และเพิ่มสัดส่วนในการขนส่งทางรางสูงขึ้น ตามนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคม




กำลังโหลดความคิดเห็น