xs
xsm
sm
md
lg

“กรมราง” จับมือเอกชนเดินแผน Thai First ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ 40% สร้างมูลค่ากว่า 7 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมราง MOU สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และ 15 หน่วยงานรัฐและเอกชน ร่วมศึกษาวิจัยและพัฒนาอุตฯ ระบบราง วางแผนผลิตชิ้นส่วนในประเทศลดการนำเข้า ตั้งเป้าผลิตเอง 40% ในปี 66 สร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท

วันนี้ (19 ก.พ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบบราง ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และหน่วยภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง 15 หน่วยงาน โดยมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา เป็นประธาน เพื่อร่วมมือในการวิจัยและพัฒนามาตรฐานระบบราง รวมถึงทดลองและพัฒนาด้านบุคลากร มีการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นมาตรฐานของประเทศและมาตรฐานสากล และสนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า ตามนโยบาย Thai First “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้รับประโยชน์ก่อน”

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวถึงการร่วมมือกับทั้ง 15 หน่วยงาน จะเป็นการต่อยอดนโยบายนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การผลิตชิ้นส่วนในประเทศ รวมถึงการกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างทั้งตัวรถ การพัฒนาอุปกรณ์ต่างๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งจากรายงานการศึกษาแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางระยะที่ 2 พบว่า การใช้ ชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) 40% ภายในปี 2566 จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การประกอบรถไฟขั้นสุดท้ายในประเทศสามารถทำให้ซื้อรถไฟในราคาถูกลงมากกว่า 2,800 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานมากกว่า 2,000 ล้านบาท และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ด้านระบบรางในระยะยาว local content จะส่งผลอย่างสำคัญต่อการลดภาระประเทศในการพึ่งพาหรือนำเข้าเทคโนโลยีต่างชาติ โดยเดินรถและบำรุงรักษา(Operation and Maintenance : O&M) ในระยะยาว มีภาระค่าซ่อมบำรุงสูงกว่าค่าการก่อสร้างหลายเท่า ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งบประมาณด้านซ่อมบำรุงระบบราง 9,600 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มเป็นกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปีในอนาคต

ดังนั้น การส่งเสริมการบำรุงรักษารถไฟได้เองในประเทศจะสามารถลดภาระจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้ไม่น้อยกว่า 1,700 ล้านบาทต่อปี ลดค่าซ่อมบำรุงและทำอาจจะช่วยลดราคาค่าโดยสารได้อีกด้วย


“ปัจจุบันไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ในระบบส่งกำลัง ระบบเบรก และอุปกรณ์ภายในตัวรถได้แล้ว และขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เริ่มมีการสั่งซื้อขบวนรถบรรทุกสินค้าที่ประกอบภายในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กมีการเติบโตอีกด้วย”

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง โดยมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟทางคู่ ซึ่งก่อสร้างแล้ว 993 กม. อยู่ระหว่างผลักดันแผนระยะ 2 จำนวน 7 เส้นทาง 1,483 กม. และรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง 678 กม. รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 สายทาง ระยะทาง 559 กม. ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมภาค 6 จังหวัด รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ระยะทาง 473 กม. ทำให้มีความจำเป็นในการซ่อมแซม บำรุงรักษาโครงสร้างในอนาคตจำนวนมาก ซึ่งนโยบาย Thai First ในการก่อสร้างโครงการของกระทรวงคมนาคม จะมีการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพาราด้วย เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา แก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BTS กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือในการใช้ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งปัจจุบัน รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวใช้ระบบอาณัติสัญญาณบริษัท บอมบาดิเอร์ ซึ่งได้มีการตั้งรงงานผลิตระบบเบรก และระบบอาณัติสัญญาณบางส่วนในไทยแล้ว ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง มีการใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนระบบสับหลักรางที่ผลิตในประเทศ ช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าได้ 5-10%

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)






กำลังโหลดความคิดเห็น