เวทีระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวฉบับใหม่ (TIEB) หลายฝ่ายกังวลค่าไฟฟ้าแพงขึ้น7.69 สตางค์/หน่วยตลอดแผนPDP2018 ฉบับปรับปรุงใหม่ จากนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933เมกะวัตต์ “กุลิศ”ปลัดพลังงานมั่นใจค่าไฟไม่สูงขึ้นเหตุราคานำเข้าแอลเอ็นจีตลาดโลกถูกเพื่อผลิตไฟฟ้า
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวหรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ฉบับใหม่ พ.ศ. 2561-258 จัดโดยสำนักงานนโยบายพลังงาน (สนพ.)วานนี้ (18 ก.พ.)ว่าสาระสำคัญของแผนTIEB ฉบับใหม่ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบัน มีจำนวน 4แผน จาก 5แผนพลังงาน นั้น ประกอบด้วย แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP2018) ได้ปรับเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นให้สอดคล้องแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงใหม่ (PDP2018 Rev1) ตามนโยบายรัฐในการสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากภายใต้นโยบาย Energy For All โดยในปี 2563 – 2567 จะมีพลังงานชีวมวล, ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย), ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และ Solar hybrid กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ โดยยังคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไว้เท่าเดิมตลอดทั้งแผน 18,696 เมกะวัตต์
โดยโครงการไฟฟ้าชุมชน กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์นั้น ในระยะแรกจะเปิดคัดเลือกและรับซื้อไฟฟ้าก่อนขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ระหว่างปี 2563-2564 แบ่งเป็นโครงการ Quick Win จำนวน 100 เมกะวัตต์ และอีก 600 เมกะวัตต์เปิดคัดเลือกทั่วไป โดยในจำนวนนี้จะนำร่องก่อน 4 โครงการ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นำร่อง 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ จากหญ้าเนเปียร์ ที่อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวมวล จากซังข้าวโพด และพืชโตเร็ว ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กำลังการผลิต 2 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 โครงการทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)เป็นผู้ดำเนินการ อยู่ที่ จ.ยะลา และจ.นราธิวาส กำลังการผลิตรวม 6 เมกะวัตต์
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโครงการQuick Win คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน มี.ค.63 หลังจากนั้นก็จะสามารถประกาศรายละเอียดเงื่อนไขการลงทุน (TOR) เพื่อให้เอกชนยื่นข้อเสนอพร้อมกับดำเนินการคัดเลือกเอกชนในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 63 โดยจะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 ส่วนที่เหลืออีก 600เมกะวัตต์ที่เปิดคัดเลือกทั่วไปนั้นหลักเกณฑ์การคัดเลือกจะต่างออกไป คงต้องรอรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานกำหนดหลักเกณฑ์ในเดือน มี.ค.นี้
สำหรับเม็ดเงินลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนทั้ง 1,933 เมกะวัตต์นั้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการลงทุนรวม 1.16 แสนล้านบาท แม้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7.69 สตางค์ต่อหน่วยมาอยู่ที่ระดับ 3.6672 บาท/หน่วยตลอดอายุของแผนPDP2018 แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยเศรษฐกิจฐานราก และยังช่วยให้เกิดการกระจายลงทุนมากกว่า 200 ชุมชน แต่มั่นใจว่าภาพรวมจะไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า เนื่องจากมีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากสปป.ลาว เข้ามาในราคาที่ถูก และการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ที่มีราคาถูกลง จะช่วยทำให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลง
เพื่อเป็นการสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชน โดยที่ยังคงเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไว้ที่ 18,696 เมกะวัตต์ ซึ่งจะลดสัดส่วนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์รวม 10,000 เกมะวัตต์ เหลือเพียง 9,290 เมกะวัตต์ การปรับเพิ่มเป้าหมายโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กของ กฟผ. 69 เมกกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ,ชะลอโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ ปีละ 60 เมกกะวัตต์ จากปี64– 65 ไปเป็นปี65–66 เร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมปี 77 มาเป็นปี 65 ในขณะที่รถไฟฟ้าหรืออีวีจะเข้ามามีบทบาทการใช้น้ำมันก็จะน้อยลง
สำหรับแผนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับปรับปรุงใหม่( PDP 2018 Rev.1 ) ยังคงกำลังผลิตไฟฟ้าจนถึงสิ้นปี 2580 เท่าเดิมที่ 77,211 เมกะวัตต์ โดยจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้า ระบบ 56,431 เมกะวัตต์ ในส่วนนี้จะมีการรับซื้อโรงไฟฟ้าใหม่หรือทดแทน ที่จะเป็นโรงไฟฟ้าไอพีพีลดลง จาก 8,300 เมกะวัตต์ เหลือ 6,900 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีการอนุมัติโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก (หินกอง)เข้าระบบไปแล้ว 1,400 เกมะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าถ่านหินลดลงจาก 1,740 เมกะวัตต์ เหลือ 1,200 เมกะวัตต์ เนื่องจากโรงไฟฟ้า เอ็นพีเอส เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซฯ ทำให้ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมเพิ่มขึ้นจาก 13,156 เมกะวัตต์ เป็น 15,096 เมกะวัตต์
ด้านแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ (Energy Efficiency Plan: EEP2018) ยังคงเป้าการลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ภายในปี 2580 โดยมุ่งเน้นมาตรการเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับการอนุรักษ์พลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้พลังงาน (Disruptive Technology) มีมาตรการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้พลังงานทุกสาขาเศรษฐกิจ โดยเพิ่มภาคเกษตรกรรมเข้ามาเพื่อให้มีส่วนร่วมของการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน
แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan2018) มีความสอดคล้องกับ PDP2018 Rev.1 พบว่าความต้องการใช้ก๊าซในภาพรวมในปี 2580 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี หรืออยู่ที่ 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยมีแนวโน้มการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ในโรงแยกก๊าซและภาคขนส่งลดลง ด้านการจัดหาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี และโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผน PDP2018 มีความจำเป็นต้องจัดหา LNG Terminal ในภาคใต้ 5 ล้านตันต่อปี ในปี 2570 และการจัดหาก๊าซธรรมชาติผ่านโครงข่ายท่อบนบกจะเพียงพอกับความต้องการใช้ถึงปี 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป ต้องมีการจัดหา LNG เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมต่อไป ส่วนแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดทำอยู่
ทั้งนี้ แผน TIEB ฉบับใหม่คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้ความเห็นชอบภายในเดือน มี.ค.นี้
ในงานรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ได้มีการแสดงความคิดเห็นหลากหลาย เช่นสมมุติฐานแผนพลังงานที่คำนวณจากเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเรื่องถูกต้องหรือไม่ เพราะในช่วง 2 ปีนี้จีดีพีโตต่ำกว่าแผนค่อนข้างมาก,การสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชนทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นทั้งที่สำรองไฟฟ้าไทยสูงมากกว่าร้อยละ 30 , การสร้างคลังแอลเอ็นจีมาบตาพุดระยะที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเป็นหรือไม่ ในขณะที่ความต้องการก๊าซฯไม่ได้สูงเหมือนในอดีต เป็นต้น