xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกอัญมณีปี 62 พุ่ง 30.91% จับตาปีนี้ระวังปัจจัยเสี่ยงฉุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วีรศักดิ์” เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี 62 มูลค่าทะลุ 1.56 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โต 30.91% ได้อานิสงส์ส่งออกทองคำไปเก็งกำไร แถมส่งออกพลอยสีพุ่งแรง ระบุตลาดอาเซียนโตไม่หยุด ตามด้วยอินเดีย คาดปี 63 ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามการค้าลุกลามไปสหภาพยุโรป ปัญหาอิหร่าน ไวรัสโคโรนาทำท่องเที่ยวโลกหดตัว และบาทแข็ง แนะผู้ประกอบการใช้ออนไลน์เพิ่มยอด ใช้โซเชียลมีเดียสานสัมพันธ์ลูกค้า และผลิตสินค้าให้ถูกเงื่อนไขคนซื้อ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2562 มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมทำได้มูลค่า 15,689.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 30.91% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 486,159.16 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.63% แต่ถ้าหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 8,095.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.34% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 250,603.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.70%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกปี 2562 เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึง 73.71% จากการส่งออกไปเก็งกำไรทำกำไรในช่วงที่ราคาทองคำอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยส่งออกไปสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และออสเตรเลียมากสุด และยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในส่วนของพลอยสี ซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพส่งออกสูง โดยพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้น 294.82%, 6.75% และ 10.72% ตามลำดับ ขณะที่เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าเพิ่มขึ้น 369.11% และเครื่องประดับทองเพิ่ม 0.66% แต่เครื่องประดับแท้ลด 5.11% เครื่องประดับเงินลด 16.24% เครื่องประดับแพลทินัมลด 5.62% เพชรลด 9.78% เพชรก้อนลด 20.42% เพชรเจียระไนลด 8.99%

สำหรับตลาดส่งออก อาเซียนยังคงเป็นตลาดที่ขยายตัวมากสุด เพิ่ม 177.48% จากการส่งออกไปสิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม เพิ่ม 258%, 217% และ 54.60% รองลงมาคือ อินเดีย เพิ่ม 89.79% จากการที่เศรษฐกิจอินเดียขยายตัว ทำให้มีการนำเข้าเพชรเจียระไน พลอยก้อน พลอยเนื้ออ่อน-เจียระไน และโลหะเงินเพิ่มขึ้น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเพิ่ม 1.19% จากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่ม ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ยังคงลดลง 4.60% เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้จีนนำเข้าจากฮ่องกงลดลง ปัญหาการประท้วงทำให้นักท่องเที่ยวลด ร้านค้าปลีกหลายรายปิดตัวลง จึงลดการนำเข้าจากไทยลง สหภาพยุโรปลด 1.02% จากเศรษฐกิจชะลอตัว สหรัฐฯ ลด 6.31% จากเศรษฐกิจชะลอตัว ร้านค้าปลีกปิดตัว ทำให้นำเข้าลด ญี่ปุ่นลด 4.11% จากการปรับขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10% จีนลด 23.17% เพราะยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ชาวจีนลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกลด 19.89% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชลด 62.25%

นายวีรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2563 ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเมินว่ายังมีความเสี่ยงหลายจุด ทั้งการขยายวงของสงครามการค้าของสหรัฐฯ ไปยังสหภาพยุโรป สงครามระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่อาจรุนแรงขึ้น ปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาที่หากลุกลามและกินเวลานานจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน ทำให้เกิดผลต่อเนื่องถึงการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ชะลอตัวลง และในที่สุดก็จะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวตาม และยังมีความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

ทั้งนี้ แนวทางการรับมือ ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญต่อการค้าออนไลน์ และเพิ่มช่องทางการค้าผ่านโซเชียลมีเดียทุกช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูป อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และ Pinterest เพื่อสานสัมพันธ์และตอบโต้กับลูกค้า และต้องศึกษาความต้องการของตลาดและผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการ เช่น ตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ต้องการสินค้าที่มีแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส ซึ่งหากปรับตัวได้ก็จะทำให้สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการและส่งออกได้เพิ่มขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น