คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานรีวิวแผนใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเพื่อให้พลังงานขับเคลื่อน ศก. ยกธงขาวโอน กฟน.-กฟภ.สังกัดพลังงาน เล็งเสนอให้ 3 การไฟฟ้าทำแผนบูรณาการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี ลดซ้ำซ้อน รวมถึงยกเว้นข้อกำหนดไฟฟ้าของประเทศที่ให้ กฟผ.เป็นผู้ซื้อรายเดียว เพื่อให้ภาคเอกชน-ประชาชน ซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อประหว่างกันได้หนุนปิโตรเคมีเฟส 4
วันนี้ (4 ก.พ.) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศที่ใช้มา 2 ปี เพื่อที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน มี.ค. 63 และรายงานรัฐสภารับทราบภายใน เม.ย.นี้ ในการนำไปสู่การปฏิบัติ โดยเวทีครั้งนี้จัดขึ้นในภาคกลางซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายหลังได้เปิดเวทีภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ไปแล้วก่อนหน้านี้
นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเป็นแผนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและจะมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพราะพลังงานมีสัดส่วนถึง 16% ของจีดีพีประเทศหรือคิดเป็น 2.5 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงมีการปรับแผนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และความเป็นไปได้ในการดำเนินงานเพื่อนำมาปรับใช้ในช่วงปี 2563-65
“การส่งออกขณะนี้พึ่งพายาก เราต้องมองว่าอะไรจะ Drive เศรษฐกิจในระยะยาวได้ แน่นอนว่าพลังงานมีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้พลังงานไปช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตรที่รายได้ต่อหัวนั้นต่ำมาก ทั้งที่มีผู้คนที่เกี่ยวข้อง 30 กว่าล้านคน หากเทียบกับธุรกิจพลังงานมีเพียง 7 แสนกว่าคน แต่รายได้ต่อหัวสูง และปิโตรเคมีเองก็ต้องมองการต่อยอดไปสู่มูลค่าเพิ่มรองรับกับอนาคตที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลง” นายพรชัยกล่าว
นายกวิน ทังสุพานิช กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเดิมได้มีการเสนอให้รวม 3 กิจการไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มาอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานทั้งหมดเพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยอมรับว่าแผนดังกล่าวคงไม่สามารถดำเนินการไปสู่การปฏิบัติได้ จึงเสนอปรับแผนใหม่โดยเสนอให้ 3 การไฟฟ้าทำแผนบูรณาการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี (2566-2570) หากการลงทุนใดเกินมูลค่า 1,000 ล้านบาท แต่หากไม่อยู่ในแผนจะไม่สามารถลงทุนได้เพื่อไม่ให้ลงทุนซ้ำซ้อนจนนำไปสู่ภาระประชาชน
นอกจากนี้ยังเสนอแก้ไขโครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single-Buyer (ESB) ที่ให้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ก่อนส่งกระแสไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย โดยกระทรวงพลังงานควรเสนอ ครม.ยกเว้น ESB ภายในเดือนเมษายนนี้ และปี 2564 ดำเนินโครงการ ERC Sandbox และส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอย่างเสรีเต็มรูปแบบ
“ปัจจุบันนี้หลายอาคารผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป เตรียมแผนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน แต่ดำเนินการไม่ได้เพราะติดระบบ ESB ดังนั้น หากมีการยกเว้นการใช้ ESB ในพื้นที่ ERC Sandbox ก็คาดว่าโซลาร์รูฟท็อปจะก้าวและลดการพึ่งพาฟอสซิล เป็นการปลดล็อก ตามเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป” นายพรชัยกล่าว
สำหรับอุตฯ ปิโตรเคมีนั้นได้เสนอแนวทางการพัฒนาปิโตรเคมีเฟส 4 เพื่อรองรับการย้ายฐานจากการลดลงของปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยในอนาคตโดยปรับไปสู่มูลค่าเพิ่มรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve โดยเบื้องต้นพื้นที่เหมาะสมจะมีทั้งภาคตะวันออกและอื่นๆซึ่งสถาบันปิโตรเลียมได้ศึกษาแล้ว ขณะเดียวกันยังเสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 รายในปี 2565 เพื่อสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางซื้อขายแอลเอ็นจี เป็นต้น
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีต้นทุนต่ำ คงหนีไม่พ้นที่จะมีเพิ่มขึ้น ยอมรับว่าเมื่อมีมากอาจกระทบต่อระบบรวมได้ รัฐจึงกำหนดให้มีโรงไฟฟ้ามั่นคงเอาไว้ รวมถึงพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้จะต้องส่งเสริมให้เกิดการติดตั้งระบบกักเก็บ (ESS) เพื่อให้การผลิตสม่ำเสมอ ไม่มาดึงไฟฟ้าส่วนกลางให้เกิดปัญหาได้ หากไม่ติดตั้งอาจมองในเรื่องของการเก็บค่าสำรองไฟฟ้า หรือ Back up