xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สถิตย์ เสนอใช้แนวคิดเศรษฐกิจกระแสใหม่ในการปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.สถิตย์” เสนอแนวคิดเศรษฐกิจกระแสใหม่ในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ในคราวการประชุมวุฒิสภา วาระรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ รอบเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562

การรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศฯ ฉบับนี้ เข้ามาสู่การพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ตรวจติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินการตามแผนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ดร.สถิตย์ชี้ว่า แผนปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจมีเป้าหมาย และผลดำเนินในภาพรวม คือ

1. แผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมายและผลอันพึงประสงค์ ผ่านการปฏิรูป 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านที่ 1 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านที่ 2 ความเท่าเทียมและการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม และด้านที่ 3 การปฏิรูปด้านสถาบันเศรษฐกิจ 2. แผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจทั้งหมดที่มี 3 ด้าน 55 ประเด็นปฏิรูป แยกเป็น 121 กิจกรรม ดำเนินการแล้วเสร็จ 30 กิจกรรม กำลังดำเนินการตามแผน 46 กิจกรรม ล่าช้ากว่าแผน 35 กิจกรรม และต้องปรับปรุงแผน 10 กิจกรรม ในรอบเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2562

จากข้อเท็จจริงข้างต้น ดร.สถิตย์จึงได้เสนอแนะการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้ 1. แผนการปฏิรูปประเทศ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน2561 ก่อนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 เพราะฉะนั้น หากมีการทบทวนแผนการปฏิรูปประเทศในอนาคต ควรปรับปรุงและเชื่อมโยงเข้ากับเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งพิจารณาความไม่ทับซ้อนหรือขัดแย้งกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้แผนที่เกี่ยวข้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน และเพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงบประมาณแผ่นดิน


2. การปฏิรูปควรจัดลำดับความสำคัญในเรื่องที่ มีนัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหรือโครงสร้างที่สำคัญที่ควรต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น แผนปฏิรูป 5 ปี เป็นต้น ซึ่งต้องไม่ใช่งานที่มีลักษณะประจำ หรืองานที่เป็นการพัฒนาระยะปานกลางหรือระยะยาวตามแผนแม่บทหรือแผนพัฒนาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


3. ในการทบทวนแผนปฏิรูปประเทศ ควรพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้


3.1 ควรพิจารณานำผลการดำเนินงานของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “เศรษฐกิจกระแสใหม่” มาประกอบการทบทวน คือ เศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bio Economy), เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy), เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy), เศรษฐกิจผู้สูงวัย(Silver Economy), และเศรษฐกิจเพื่อสังคม(Social Economy แม้บางเรื่องจะมีการเชื่อมโยงไว้แล้วพอสมควร เช่นเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจชีวภาพ แต่ยังปรากฏในแผนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น


3.2 ควรพิจารณานำ “รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่” หรือ “บีซีจี โมเดล” (BCG Model) อันประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้วางกรอบดำเนินการไว้ มาประกอบการทบทวน


4. ควรพิจารณาจัดทำตัวชี้วัดในระดับแผนฯ ของเป้าหมายและผลอันพึงประสงค์ของด้านเศรษฐกิจ และควรแสดงรายละเอียด ระยะเวลาของการดำเนินการตามแผนให้ชัดเจน เพื่อให้การติดตามความคืบหน้าเป็นรูปธรรมในระดับแผนมากยิ่งขึ้น 5. ควรพิจารณาเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศที่ล่าช้าจำนวน 35 แผน และเร่งรัดการปรับปรุงแผนอีก 10 แผน ให้กลับมาอยู่ในกรอบเวลาที่ควรจะเป็น ซึ่งในรายงานไม่ได้ระบุว่าเป็นแผนเรื่องอะไร และมีกิจกรรม/ประเด็นย่อยเรื่องอะไรบ้าง และไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่ล่าช้าไว้ ทำให้มีข้อจำกัดในการเสนอแนะทางออกและการแก้ปัญหา

ดร.สถิตย์กล่าวสรุปว่า แม้ว่าแผนการปฏิรูปประเทศตามที่รายงานมีความคืบหน้าระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม หากได้มีการทบทวน ปรับปรุงเพิ่มเติม ตามข้อเสนอแนะข้างต้นจะสามารถตอบเป้าหมายการปฏิรูปประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น