“สนธิรัตน์” เสนอเรื่องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ในการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพได้ โดยเฉพาะไบโอดีเซลและเอทานอล จากปัจจุบันที่กำหนดให้ลดการอุดหนุนใน 3 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี หวังให้นโยบายส่งเสริมน้ำมันบนดินดูแลราคาพืชเกษตรทั้งปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลังเดินหน้าได้ต่อเนื่อง
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ทำเรื่องไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ใหม่ที่ให้สามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ (ไบโอดีเซล และเอทานอล) ได้จากปัจจุบันภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตราที่ 55 กำหนดให้ยกเลิกการอุดหนุนภายใน 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2563 และขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันมุ่งให้ความสำคัญกับเชื้อเพลิงชีวภาพในการยกระดับราคาสินค้าภาคการเกษตรโดยเฉพาะปาล์ม อ้อยและมันสำปะหลัง
“นโยบายของนายสนธิรัตน์มองว่า เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งไบโอดีเซล เอทานอล เป็นน้ำมันบนดินโดยไบโอดีเซลขณะนี้ได้ส่งเสริมให้ดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานในการช่วยยกระดับราคาปาล์มและต่อไปดูในส่วนของเอทานอลที่ผสมเบนซินในการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ที่จะยกระดับอี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ดังนั้น ในส่วนนี้ก็จะไปยกระดับราคาอ้อยและมันสำปะหลังที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล หากไม่มีกลไกกองทุนน้ำมันเข้ามาดูแลก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาและความมั่นคงทางพลังงานเช่นกัน โดยการแก้ไข พ.ร.บ.ก็จะเป็นการเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อการดูแลราคาเชื้อเพลิงชีวภาพเท่านั้น” นายวีระพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.น้ำมันฯ นั้นอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ระหว่างนี้การทำงานจึงยังจำเป็นต้องยึดตามกฎหมายเดิม ดังนั้น การลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ต้องดำเนินการทุกปีที่ต้องเริ่มในปีนี้เป็นปีแรก ทาง สกนช.ได้เตรียมแผนงานไว้รองรับแล้ว โดยในส่วนของน้ำมันดีเซลบี 7 จะสูงกว่าดีเซลบี 10 อัตรา 2 บาท/ลิตร และสูงกว่าน้ำมันดีเซล B20 ในอัตรา 3 บาท/ลิตร ซึ่งระยะต่อไปเมื่อดีเซลบี 10 ที่ถูกจัดให้เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานแทนบี 7 การใช้จะเพิ่มขึ้นหากไปถึงระดับ 50 ล้านลิตรต่อวัน เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันฯ จะสูงถึง 3,000 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้น ส่วนต่างดังกล่าวก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการลดการชดเชยลงเพื่อดูแลสถานะกองทุนฯ ซึ่งปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิที่ 36,758 ล้านบาท
“หลักการต่อไปที่เราเตรียมพร้อม คือ ดีเซลบี 7 อาจถูกถ่างราคาให้สูงขึ้นเช่นอาจเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มทันที 1 บาทต่อลิตร เพื่อทำให้คนเลิกใช้ หรืออาจไปลดการชดเชยดีเซลบี 10 ด้วยก็ได้ หลักการนี้ก็จะไปใช้กับกลุุ่มเบนซิน เมื่อรัฐยกเลิกอี 10 แก๊สโซฮอล์ 91 แล้วส่งเสริมอี 20 เป็นเชื้อเพลิงหลักก็ต้องมาปรับเปลี่ยนกองทุนเพื่อถ่างราคาให้มีคนใช้อี 20 เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มเงินกองทุนที่เก็บจากแก๊สโซฮอล์ 95 จาก 1.20 บาท/ลิตร เป็นต้น” นายวีระพลกล่าว
สำหรับภาพรวมรายได้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีทิศทางลดลงจากการประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้ดีเซลบี 10 และแก๊สโซฮอล์อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ขณะที่ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวลดลงโดยราคา Spot Cargo ที่ใช้อ้างอิงเคลื่อนไหวช่วง ม.ค.อยู่ระดับ 515 เหรียญสหรัฐต่อตันทำให้กองทุนฯ เข้าไปชดเชยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.30 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ชดเชยอยู่ระดับ 3.70 บาทต่อ กก.ทำให้บัญชีกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของแอลพีจีเริ่มดีขึ้นทำให้ฐานะล่าสุดติดลบ 5,322 ล้านบาท ซึ่งยังไม่เกินกรอบวงเงินที่วางไว้ในการดูแลไม่ให้ติดลบเกิน 7,000 ล้านบาท หากราคาแอลพีจีตลาดโลกเคลื่อนไหวไม่เกินระดับ 500 เหรียญสหรัฐต่อตันการดูแลก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน
“ราคาแอลพีจีตลาดโลกเริ่มลดลงจากผลกระทบโคโรนาไวรัสก็ทำให้เงินบัญชีน้ำมันไม่ต้องไม่อุดหนุนบัญชีก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นแต่ก็คงต้องติดตามใกล้ชิด” นายวีระพลกล่าว