เปิดเวทีสัมมนาระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ องค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ประเมินทิศทางการใช้พลังงานในอนาคตในภาคขนส่ง หลังรัฐบาลปักธงส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อนำมาปรับแผนให้ทันการณ์หลังเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยเฉพาะการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล
นายพงษ์ศักดิ์ พรหมกร รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาเปิดตัวโครงการศึกษาผลกระทบการส่งเสริมยานยนต์ทางเลือก และการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งในประเทศไทย ต่อการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ประจำปี 2562 ว่า พพ.ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวโดยร่วมกับสำนักพัฒนาเทคนิคศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เพื่อศึกษาประเด็นผลกระทบของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะมีต่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคตเพื่อนำมาสู่การศึกษาวิจัยของโครงการในขั้นตอนต่อไป
“การสัมมนาเพื่อที่จะเป็นการระดมสมองในการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักวิชาการ สถาบันการศึกษา นักวิจัย หน่วยงานรัฐ และเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะนำไปวิเคราะห์ศึกษาและวิจัยเพื่อที่จะนำมาใช้ปรับปรุงแผนพลังงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และยังเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในระยะยาว” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้แผน EEP และนโยบายรัฐได้มุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จำนวน 1.2 ล้านคันในปี 2579 เนื่องจากมองบทบาทว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนสำคัญต่อการลดมลพิษ และลดการนำเข้าน้ำมัน ซึ่งมาตรการส่งเสริมรถอีวีอาจจะกระทบต่อสัดส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่จะเกี่ยวโยงไปถึงราคาพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการใช้น้ำมันชีวภาพทั้งการใช้ปาล์มบริสุทธิ์ (บี 100) มาผสมกับดีเซล (ไบโอดีเซล) และส่งเสริมการนำเอทานอลที่ได้จากกากน้ำตาล (โมลาส) และมันสำปะหลังมาผสมกับเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ จึงจำเป็นจะต้องศึกษาที่มองภาพรวมในอนาคต
“นโยบายรัฐได้วางเป้าหมายที่จะส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพราะถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และจะทำให้ไทยยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ไว้ได้ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีในทุกวันนี้มีความรวดเร็วและรถอีวีเริ่มมีราคาที่ถูกลง ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันเป็นไฟฟ้าอาจเป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อการใช้เชื้อเพลิงเบนซินและดีเซลในอนาคต โดยจะรวมถึงปริมาณการใช้เอทานอลและไบโอดีเซลอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน พพ.จึงต้องเตรียมวางแผนการบริหารจัดการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในอนาคตให้สอดรับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่งของประเทศ” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว