รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานลงพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องที่จ.สุราษฎร์ธานี โปรโมทการใช้ “B10 นโยบายน้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก”ปลื้มมีส่วนช่วยดันราคาปาล์มเกิน 4 บาท/กก.แล้ว พร้อมเยี่ยมชมโรงงานผลิตไบโอดีเซล (B100) ที่มีส่วนช่วยกระจายไบโอดีเซลคุณภาพสู่คลังน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมคณะเดินทางปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเดินหน้าส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 น้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งกระทรวงพลังงานดีเดย์ประกาศเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานสำหรับประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งมาตรการส่งเสริมน้ำมันดีเซล B10 เป็นหนึ่งในกลไกด้านพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประชาชนให้กับชุมชน เพราะเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพจากไบโอดีเซลที่ผลิตจากปาล์มน้ำมันมาผสมในเนื้อน้ำมันดีเซล เป็นการนำจุดแข็งด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทยมาช่วยสร้างเสถียรภาพราคาให้กับเกษตรกร ทำให้ปาล์มน้ำมันไม่ติดกับปัญหาด้านราคาเหมือนที่ผ่านมา
“หากผลักดันการใช้ B10 สำเร็จจะทำให้การใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มประมาณ 40% จากปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีปริมาณการใช้ไบโอดีเซล 5.15 ล้านลิตรต่อวัน ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวันใน ปี 2563 โดยภาคพลังงานจะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 - 2.2 ล้านตันต่อปี และยังเกิดผลพลอยได้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อีกด้วย”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว
สำหรับการลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานครั้งนี้ ได้สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจเรื่องเสถียรภาพของราคาปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน จากการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 ได้มีส่วนช่วยให้ราคาปาล์มน้ำมันในตลาดได้ขยับขึ้นมากกว่า 4 บาท/กิโลกรัม แล้ว
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไบโอดีเซล (B100) ของบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี โดยโรงงานดังกล่าวมีพันธกิจที่สอดคล้องกับนโยบายด้านพลังงาน เพราะมุ่งผลิต ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทนลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ช่วยเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและสร้างความเชื่อมั่นว่าจะสามารถปลูกและขายผลผลิตในราคาที่เหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะยังได้เดินทางทำพิธีเปิด ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียยางพารา ขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร ที่สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินท่าแซะ จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งสหกรณ์ดังกล่าวมีผลผลิตส่วนใหญ่เกี่ยวกับยางพารา อาทิ การรวบรวมผลผลิตยางพาราแผ่นดิบ การแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน การจัดจำหน่าย การแปรรูปยางแท่ง เป็นต้น โดยโรงงานของสหกรณ์มีกำลังการผลิตยางแผ่นรมควันชั้น 3 ประมาณ 10 ตันต่อวัน ยางแท่ง STR 20 ประมาณ 2 ตันต่อชั่วโมง สำหรับระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียที่ได้จากยางพาราดังกล่าว ได้รับงบประมาณปี 2562 ในส่วนของโครงการลดต้นทุนพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรและการอบแห้งผลผลิตทางการเกษตรภาคใต้ ในการก่อสร้างบ่อแก๊สชีวภาพจากน้ำเสียยางพาราขนาด 500 ลูกบาศก์เมตร งบประมาณก่อสร้าง 1.5 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืนที่ใช้ในการผลิตได้ประมาณ 125 ตันต่อปี จากเดิมที่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวที่ 600 ตันต่อปี