ภัยแล้งปี 2563 นั้น จะว่ามีคนไม่รู้ก็อาจมีบางส่วน ส่วนหนึ่งก็หลงลืมไปแล้วว่า ฤดูฝนปี 2562 ปริมาณฝนน้อย ฝนทิ้งช่วงยาว เป็นแล้งกลางฤดูฝน
คนทั่วไปอาจหลงลืมภาวะเหล่านี้ไปบ้าง แต่ไม่ใช่เกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชลประทาน
ในพื้นที่ที่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ จะมีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ทำหน้าที่เหมือนชื่อโครงการคือส่งน้ำให้พื้นที่ในโครงการและบำรุงรักษาอาคารชลประทานทั้งหลายให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
นอกจากส่งน้ำให้เกษตรกรแล้ว ยังมีหน้าที่จัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน เพื่อเป็นตัวช่วยและบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการมีประสิทธิภาพ ในกรณีฤดูแล้งที่มีน้ำจำกัด ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำฯ ต้องเรียกประชุมชี้แจง และหารือร่วมกับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ จะแบ่งสันปันส่วนจ่ายน้ำเป็นรอบเวรอะไรอย่างไร จนกระทั่งหากไม่มีน้ำเพียงพอก็แจ้งงดทำการเกษตร โดยเฉพาะนาปรังที่ใช้น้ำมาก
“ยังไงเกษตรกรต้องรู้ ส่วนรู้แล้วจะวางแผนอย่างไรก็เป็นเรื่องของแต่ละคนไป เพราะน้ำมีจำกัด ทุกคนรู้ตัวเลขน้ำได้อยู่แล้ว คนที่มีบ่อบาดาลก็อาจสูบน้ำขึ้นทำนา หรือปลูกพืชใช้น้ำน้อย บางคนก็งดทำการเกษตรไปเลย” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
สำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำจะเป็นกำลังสำคัญในคณะกรรมการลุ่มน้ำ ซึ่ง สทนช.กำลังดำเนินการออกกฎหมายรองประกาศรายชื่อ 22 ลุ่มน้ำ และคณะกรรมการทั้ง 22 ลุ่มน้ำในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานเป็นหน้าที่ของกรมชลประทานในการทำความเข้าใจและสร้างความเข้มแข็ง เพราะกรรมการส่วนหนึ่งในคณะกรรมการลุ่มน้ำจะมาจากตัวแทนกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ
“จริงๆ แล้วกลุ่มผู้ใช้น้ำจะมีบทบาทมากขึ้นและชัดเจนขึ้นในคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพราะจะเป็นผู้สะท้อนสภาพปัญหาน้ำที่แท้จริงในพื้นที่ของตัวเองได้ดีกว่าใคร โครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำจะทำให้เห็นภาพน้ำของทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ แม้กระทั่งในพื้นที่นั้นๆ”
เลขาธิการ สทนช.มีแนวคิดให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของการเฝ้าติดตามและแจ้งตัวเลขสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดกลางในยามวิกฤตเพราะอยู่ในพื้นที่ตัวเองอยู่แล้ว ในขณะเจ้าหน้าที่กรมชลประทานบางจังหวัดต้องรับผิดชอบดูแลเขื่อนขนาดกลางหลายเขื่อน ไม่อาจปลีกตัวเฝ้าติดตามดูข้อมูลน้ำได้ทั่วถึง และทันท่วงที
เช่นเดียวกัน ข้อสะท้อนปัญหาของเกษตรกรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ บางครั้งก็ขาดการกระตุ้นให้นำเสนอปัญหาและทางออกสู่ส่วนกลาง ทั้งที่สามารถแก้ไขได้ทันที หรือบรรจุอยู่ในแผนงานโครงการในระยะต่อไปได้ ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ฉับไวขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงน้ำดีขึ้น
เช่นเดียวกับเกษตรกรนอกเขตชลประทาน ซึ่งมักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง หรือบางครั้งในฤดูฝนในกรณีฝนทิ้งช่วงนาน เกษตรกรกลุ่มนี้ก็ยังขาดการเข้าถึงการสนับสนุนจากรัฐ เพราะกลไกในการเชื่อมโยงยังไม่สอดประสาน
“เอาง่ายๆ แล้งนี้พื้นที่นอกเขตชลประทานเดือดร้อน ถามเขาแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าจะต้องแจ้งใคร ที่ไหน ทั้งที่อย่างน้อยเขาแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้เลย ไล่ขึ้นไปถึงจังหวัด มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเฉพาะหน้าหรือในระยะยาว ในอนาคตที่จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่น่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้ดีขึ้น”
โครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ในกรณีลุ่มน้ำดังกล่าวครอบคลุมหลายพื้นที่ปกครองหลายจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลือกประธานกันเอง ที่เหลือเป็นรองประธาน โดยมีหน่วยงานด้านน้ำอื่นๆ ผู้ทรงคุณวุฒิ และกลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นกรรมการ และมีตัวแทน สทนช.เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งจะประสานกับ สทนช.ส่วนกลางโดยตรงอยู่แล้ว ทำให้ภาพการพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำและภัยจากน้ำมีเอกภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ดร.สมเกียรติกล่าวย้ำว่า แนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำของประเทศนั้น สทนช.ปรับรูปแบบจากการศึกษาพัฒนาโครงการแบบโดดๆ รายโครงการหรือเฉพาะด้าน เป็นการศึกษาพัฒนาแบบองค์รวม โดยมีราษฎรในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย ทั้งพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการบูรณาการทรัพยากรเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมและมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดประสิทธิภาพที่สุด