xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงปี2020 เริ่มต้นอุตสาหกรรม 4.0 พลิกโฉม “ศก.-สังคม-เทคโนโลยี” ยุคศก.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคดภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร

หากจะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ สังคม อันเนื่องมาจากระบบเทคโนโลยีที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ โฆษกพรรคดภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้อธิบายถึงแนวคิดเรื่องของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ที่จะพลิกผันสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ที่กำลังเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจใหม่

โดยในปี 2020 จะเป็นปีที่จะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในลักษณะเหมือนเครื่องบินที่ยกตัวขึ้น พ้นจากรันเวย์แล้วทะยานสู่ท้องฟ้า ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็เนื่องมาจากการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 5G ทำให้เกิดการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ มีความน่าตื่นเต้นและไม่เหมือนการให้บริการในรูปแบบเดิม เนื่องจากเส้นแบ่งระหว่าง “โทรศัพท์เคลื่อนที่” และ “ระบบนิเวศดิจิทัล” ที่กว้างขวางกำลังจะเลือนหายไป และเมื่อการสร้างรายได้จากข้อมูล (Data) เริ่มเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ให้บริการหลายรายกำลังก้าวข้ามธุรกิจโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ๆ ในการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภค รสนิยมของคนรุ่มใหม่ โดยเฉพาะคนในยุค Gen Alpha และ Gen Z ที่คนกลุ่มเหล่านี้มีรสนิยมเปลี่ยนไป ค่านิยมเปลี่ยนไป ประกอบกับการที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามา โดยเฉพาะระบบ 5G ตรงนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และคิดว่าในอนาคตโดยเฉพาะในปี 2020 เราจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องโทรคมนาคม แต่หมายรวมถึงทุกเซคเตอร์ ทุกแฟลตฟอร์ม ทุกกิจกรรม จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ประกอบด้วย
เทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิดบริการในรูปแบบใหม่ๆ ไม่เหมือนการให้บริการในรูปแบบเดิม โดย 5Gที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถทำงานได้แบบ “เรียลไทม์” การสื่อสารโต้ตอบทำได้เหมือนการนั่งคุยต่อหน้ากัน 5G จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิต ลดความผิดพลาด ผลิตได้มากแบบเฉพาะเจาะจงในเวลาที่ลดลง รวมทั้งส่งผลดีต่อ การศึกษา การแพทย์ทางไกล และเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

เทคโนโลยี IoT (Internet of things) โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2018 - 2025 จะมีจำนวนการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 3 เท่าเป็น 25,000 ล้านการเชื่อมต่อ ในขณะที่รายได้ของ IoT ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 4 เท่า เป็น 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการเชื่อมต่อที่ทวีความรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้อง


ปรับบทบาทอย่างมากในห่วงโซ่คุณค่า(value chain) จะต้องจัดหาเครื่องมือและความสามารถที่จำเป็นเพื่อสร้างโซลูชั่น IoT ไปจนถึงการเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น IoT แบบครบวงจร

อุปกรณ์ (Device) อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงสมาร์ทโฟน จะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปแบบก้าวกระโดด แบตเตอร์รี่จะเล็กลงและใช้งานได้ยาวนานขึ้น รถไฟฟ้าจะเข้ามาแทนรถใช้นำมันในที่สุด แล้วการเสพสื่อด้วยอุปกรณ์จะเปลี่ยนรูปแบบไป ทำให้การแพร่หลายของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกัน และช่องทางในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ยิ่งใหญ่กว่าที่เคยเป็นมา โดยแนวโน้มอนาคตจะมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง เช่น AR/VR และ Immersive reality เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้านการธนาคาร (Banking) จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ระบบธนาคารแบบเดิมจะล่มสลายลง ธนาคารจะมีรูแบบแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป เพราะระบบการเงินการธนาคารจะเชื่อมกับสรรพสิ่งต่างๆ อาจเรียกว่า “Bank of Things” ตู้เอทีเอ็มจะเริ่มลดจำนวนลง แล้วทุกบริษัท ทุกแพลตฟอร์มสามารถเป็นแบ็งค์กิ้งได้หมด โดยเฉพาะร้านค้าปลีก จะได้รับผลกระทบโดยตรง ที่ต้องมีการปรับตัวแล้วสุดท้ายร้านค้าปลีกจะกลายเป็นแบ็งค์กิ้งไปในตัว หรือ Retail banking นั่นเอง

ดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO จะมีบทบาทมากขึ้นในการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่วัตถุประสงค์คือการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ เป็นการขจัดปัญหาเรื่องความหน่วงเวลา ทำให้ระยะเวลาในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์สั้นลง การสำรวจพื้นที่จะมีความแม่นยำ ระบุตำแหน่งได้ชัดเจนขึ้น ถึงขนาดที่รู้ว่าข้าวหรือพืชที่ปลูกอยู่บนพื้นโลกเป็นพันธุ์อะไร ใกล้เก็บเกี่ยวหรือยัง ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศใช้เทคโนโลยีนี้แล้ว ซึ่งเราจะเริ่มมองเห็นธุรกิจอวกาศที่แปลกใหม่ใน Space economy ที่เข้าใกล้ตัวเราอย่างน่าตื่นเต้นภายใน 3-5 ปีนี้

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะเป็นกุญแจของธุรกิจในอนาคตและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่ง AI จะผลักดันให้เกิดเครือข่ายอัจฉริยะและการขับเคลื่อนด้วยตัวเองมากขึ้น สามารถปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ผ่านการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้า เช่น chatbots จะเป็นเรื่องธรรมดา และผู้ช่วยดิจิทัล (digital assistants) การดำเนินงานและการวางแผนเครือข่าย การดูแลลูกค้าอัตโนมัติ การโฆษณา และการให้บริการซอฟต์แวร์ด้วย Cloud AI (AI as a service)

นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเนื้อหา(content) โดยมีอิทธิพลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภค การเสพสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป การมีผู้ประกอบการใหม่ๆ เกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการกระจายเนื้อหา ซึ่งผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมจำนวนมากกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมเนื้อหาและวิเคราะห์ หรือมีการเสริมความแข็งแกร่งของการวิเคราะห์เนื้อหาที่มีอยู่ผ่านการบูรณาการแบบครบวงจร ถือเป็นการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ในเชิงตัวเลขทางเศรษฐกิจ มีการคาดการณ์ว่าเทคโนโลยี 5G จะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจโลกได้ถึง 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยภายใน 7 ปีข้างหน้าจะมีผู้คนกว่า 1,400 ล้านคน เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ซึ่งทำให้จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านคนภายในปี 2025 (หรือมากกว่า 60% ของประชากรโลก) การเติบโตนี้ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้เครื่องมือและโซลูชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น เช่น ในด้านการเกษตร การศึกษา และการดูแลสุขภาพ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศที่มีรายได้ในระดับต่ำถึงปานกลาง

ปัจจุบันหลายประเทศ ได้เริ่มให้บริการ 5G แล้ว เช่น ในสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ ได้เริ่มให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์แล้วในช่วงปลายปี 2018 โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกที่ให้บริการ 5G ได้ทั่วประเทศ สำหรับประเทศไทย สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เพียงพอสำหรับ 5G และจะต้องมีการปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลให้ทันสมัยสำหรับอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของตลาดและการดูแลผู้บริโภค รัฐบาลควรลดภาระภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ ได้อธิบายถึงภาพรวมทั้งหมดที่ได้ฉายออกมา โดยอยากให้ทุกคนมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในเซคเตอร์ต่างๆ เมื่อเราก้าวเข้าสู่อุสาหกรรม 4.0 อย่างแท้จริง ซึ่งจะมีผลต่อทุกวงการทั้ง สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี โดยที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว แต่ด้วยวัฒนธรรมการอยู่ การกิน การใช้ชีวิต รสนิยม ค่านิยมของคนมันเปลี่ยนไป เช่น การที่รัฐบาลให้เราเลิกใช้ถุงพลาสติก ก็เกี่ยวข้องกับอุสาหกรรม 4.0 ด้วย เพราะด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำขึ้น ทำให้เกิดวัตถุดิบอื่นที่ใช้ได้ดี และราคาถูกกว่า เช่น กระดาษรีไซเคิล ไม้ไผ่ เศษวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่าย ประกอบกับค่านิยม วัฒนธรรมคนมีการปรับเปลี่ยน ทำให้บริษัทที่ทำเกี่ยวกับพลาสติกต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือปรับตัว แล้วในท้ายที่สุดจะทำให้คนไม่ยอมรับการใช้พลาสติกหรือวัสดุย่อยสลายยาก จากนั้นจะเริ่มเข้าสู่การใช้อุปกรณ์ที่ย่อยสลายได้ ทำให้อุตสาหกรรมหันไปใช้ Smart material มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดผลกระทบเชื่อมโยงกัน ตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี


กำลังโหลดความคิดเห็น