xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อนิเทศไม่ใช่แค่เรื่อง Creativity จับตา ม.กรุงเทพ เปิด 2 หลักสูตรรับโลกดิจิทัล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดิมทีถ้าพูดถึงคณะนิเทศศาสตร์ เรามักจะนึกถึงกลุ่มอาชีพในวงการวิทยุ โทรทัศน์ โฆษณาและสื่อสารมวลชนต่างๆ เท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วหัวใจหลักของนิเทศศาสตร์คือ “การสื่อสาร” ไม่ว่าการสื่อสารนั้นจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ซึ่งถ้ามองตามนิยามนี้แล้ว คำว่านิเทศศาสตร์จึงกว้างไกลกว่าอาชีพที่เราเคยนึกถึงกัน และด้วยความตระหนักเช่นนี้นี่เอง ที่ผ่านมาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงมีสาขาวิชาใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ “การสื่อสาร” ออกมาอย่างครบทุกมิติ
และในปีการศึกษา 2563 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็เตรียมดันอีก 2 สาขาที่น่าจับตามอง โดยสาขาแรกเป็นสาขาใหม่แกะกล่องคือ การผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล ส่วนอีกสาขาเป็นการพัฒนาให้มีความทันสมัย พร้อมติดอาวุธให้ผู้เรียนรอบด้านมากขึ้น นั่นคือ สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง ซึ่งทั้งสองสาขาถือเป็นการพลิกโฉมให้กับคณะนิเทศศาสตร์ที่ใครๆ มักมองว่าเน้นเพียงความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น ทั้งๆ ที่นิเทศยุคใหม่ต้องใส่ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้าไปด้วย นั่นเพราะมหาวิทยาลัยกรุงเทพเชื่อว่า ไม่ว่าจะเรียนสาขาใด ถ้านำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และเทคโนโลยี(Technology)มาผสานเข้าด้วยกันแล้วละก็ อนาคตแบบไหนก็ไร้ขีดจำกัด


“ไอเดียในการคิดหลักสูตรนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามว่า เรายังมีพื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบความต้องการอีกหรือเปล่า แทนที่จะคิดแค่ว่าเราจะพัฒนาหลักสูตรอย่างไร เพราะถ้าคิดแค่นั้นเราจะได้แค่โปรดักต์เดิมที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้โปรดักต์ใหม่ พื้นที่ที่ว่าก็คือเรื่องเทคโนโลยี” ดร.พีรชัย เกิดสินธุ์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวถึงแนวคิดในการเปิดสาขาการผลิตเนื้อหาสร้างสรรค์และประสบการณ์ดิจิทัล “หัวใจหลักของการสื่อสารไม่ได้มีแค่เรื่องความเชี่ยวชาญด้านโปรดักชั่นแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่มีเรื่องของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยวิธีคิดที่แปลกใหม่และสร้างคอนเทนต์ด้วยความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างถ่องแท้ด้วย หลักสูตรนี้จึงเน้นว่าไม่ว่าอุปกรณ์ สื่อ หรือแพลตฟอร์มจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม แต่ผู้เรียนจะสามารถเล่าเรื่องออกมาเป็นคอนเทนต์ที่ดีและสร้างสรรค์ได้”
นั่นคือแง่มุมของ “เนื้อหาสร้างสรรค์” ส่วนคำว่า “ประสบการณ์ดิจิทัล” นั้น ดร.พีรชัยได้ขยายความว่า “นักนิเทศยุคใหม่ต้องใส่ใจพัฒนาการของเทคโนโลยี เช่น นำ AI มาช่วยทำนายพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อที่จะสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้ตรงตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีมาออกแบบคอนเทนต์เพื่อมนุษย์ยุคดิจิทัลยกตัวอย่างเช่นนิทรรศการ From Monet to Kandinskyที่ไม่ใช่แค่โชว์ภาพวาดของโมเนต์ แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เล่าเรื่องเพื่อพาผู้ชมย้อนอดีตเข้าไปมีส่วนร่วมในประสบการณ์ชีวิตของศิลปินคนสำคัญ อีกหนึ่งตัวอย่างคือVirtual Concert ที่เราสามารถร่วมร้องเพลงในเวทีคอนเสิร์ตเดียวกันได้แบบเสมือนจริงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลกประสบการณ์ดิจิทัลจึงไม่ใช่แค่การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีแต่หมายถึงการสร้างสรรค์ความบันเทิงหรือไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ที่ตอบสนองความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล”


ขณะที่สาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง เกิดขึ้นจากไอเดียที่ว่า ทางคณะต้องการขยายศาสตร์ทางด้านบรอดแคสติ้งเพราะปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่ดูรายการตามผังเวลาของสถานีโทรทัศน์ ก็เปลี่ยนเป็นดูผ่านเครือข่ายอินเทอร์เนตที่เรียกว่าการสตรีมมิ่ง (Streaming) ถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือหนังหรือละครอาจไม่ได้ฉายแค่ในโรงหรือทีวีเท่านั้น “นักนิเทศศาสตร์ต้องเข้าใจว่าประสบการณ์ในการรับชมแต่ละแบบเป็นอย่างไร แล้วคิดให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เช่น ถ้าจะทำหนัง เราอาจถ่ายซีนนี้ให้ยาวขึ้นเพื่อไปลงNetflix เตรียมเวอร์ชั่นสั้นๆ ไว้ลงในYouTubeหรือถ้ารายการยาว 1 ชั่วโมง เราจะต้องรู้ว่าแต่ละตอนควรตัดช่วงไหนมาสตรีมมิ่งสั้นๆแต่รักษาอรรถรสไว้ได้ หรืออย่างละครที่แต่ก่อนต้องคอยชมแต่ละสัปดาห์ เมื่อคอนเทนต์นี้จะถูกสตรีมมิ่งตั้งแต่ต้นจนจบภายในคราวเดียว จะทำอย่างไรที่จะดึงดูดให้ผู้ชมดูจบภายใน 1 คืนได้โดยไม่ยอมหลับยอมนอน”


ดังนั้นนอกจากผู้เรียนสาขาวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการผลิตสื่อสตรีมมิ่ง จะยังคงได้เรียนรู้การทำโปรดักชั่นแบบมืออาชีพตามแบบดั้งเดิมแล้ว ยังจะมีทักษะและการคิดวิเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์จากช่องทางสตรีมมิ่ง อันเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคยุคปัจจุบันนิยมด้วย กล่าวได้ว่าผู้เรียนจะได้รับทักษะรอบทิศทางที่จำเป็นต่อยุคปัจจุบันอย่างแท้จริง
ดร.พีรชัยยังกล่าวด้วยว่า ในอดีตมหาวิทยาลัยทั่วไปมักทำหลักสูตรโดยยึดวิชาชีพเป็นหลัก แต่ด้วยวิสัยทัศน์แบบใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ได้คิดแค่ว่าจะผลิตบัณฑิตออกไปประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งหรือวงการใดวงการหนึ่งแบบเหมาโหลแต่จะสร้างบัณฑิตที่มีความพิเศษเฉพาะตัวมีความรู้รอบด้านสามารถทำงานได้ทุกวงการ และทำอะไรก็ได้ตามความรักและความถนัดของตน
การออกแบบหลักสูตรใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก และรู้จักนำเทคโนโลยีมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์นี้นี่เองทำให้คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผลิตบัณฑิตที่ได้รับการยอมรับจากทุกวงการ และยังคงเป็นหนึ่งในคณะที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น