xs
xsm
sm
md
lg

พิษฝุ่น 2.5ทำเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ-แถมป่วยถ้วนหน้า !/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ป่วยการที่จะมานั่งถกเถียงว่าฝุ่นพิษ 2.5 ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะใคร หรือต้องการโทษใคร ?

เพราะทุกคนล้วนมีส่วนร่วมด้วยกันจะมากบ้างน้อยบ้าง ก็สุดแท้แต่ว่าใครอยู่ในภาคส่วนไหน หรือระดับปัจเจกแบบใด

แต่ประเด็นที่จำเป็นต้องพูดถึง และตะโกนดัง ๆ ก็คือ ถ้าปล่อยให้ฝุ่นพิษลอยนวลกันแบบนี้ทุกปี แล้วประชาชนก็วัดดวงเอาเองว่าใครจะสูดน้อยสูดมาก ใครจะพอมีปัญญาดูแลป้องกันตัวเองก็ว่ากันไป ส่วนใครมีข้อจำกัด และเงื่อนไขชีวิตที่ไม่อำนวยก็ช่างดวงกันเอาเองละกัน รอจนกว่าให้ฝุ่นพิษมันหายไปเองละหรือ?

แล้วค่อยรอลุ้นใหม่ รวมถึงพร่ำบ่นกันต่อไปในปีหน้า !

เหมือนทุกเรื่องที่เคยเป็นและยังเป็นอยู่ในบ้านเราอีกหลาย ๆ เรื่อง !

ที่บรรดาผู้คนแทบจะทุกภาคส่วนออกมาโวยวายบ้าง ต่อว่าบ้าง นำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาบ้าง ก็เป็นเพราะผู้คนได้รับผลกระทบกันถ้วนทั่ว และได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้าแล้วต่างหาก

เพราะอากาศคือทรัพยากรขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องมีเพื่อดำรงชีวิต

และเมื่อได้รับผลกระทบแล้ว ก็พยายามหาทางป้องกันตัวเองเบื้องต้น

แต่สิ่งที่ต้องการเห็นก็คือนโยบายการแก้ปัญหาแบบเป็นรูปธรรมต่างหากว่าจะเอาอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการระยะกลางและระยะยาว

เชื่อเถิดเมื่อสถานการณ์มาถึงการสุกงอม มาตรการบังคับมีความจำเป็นมากกว่ามาตรการขอความร่วมมือ ก็ในเมื่อเรามีรัฐบาลในการบริหารประเทศ ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน และก็อาสาเข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วย ก็ควรจะรับฟังเสียงของประชาชนบ้าง

จำได้ว่าช่วงเดียวกันนี้ของปีที่แล้ว ประชาชนตื่นตัวและตื่นตระหนกกันมากเรื่องฝุ่นพิษ ถึงขนาดแห่กันซื้อหน้ากากอนามัยจนถึงกับขาดตลาด ต้องหาทางซื้อจากต่างประเทศก็ยอม

การวอนขอให้ภาครัฐประกาศปิดโรงเรียน เพราะเป็นห่วงเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กที่ต้องรับฝุ่นพิษ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง พอมาปีนี้ เราอยู่กับฝุ่นพิษมาเป็นเดือน ก่อนที่ภาครัฐเริ่มประกาศให้โรงเรียนปิดบ้างแล้ว

ประเด็นคือ เราไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเลยหรือทั้งที่เคยมีบทเรียนมาแล้วว่า เมื่อเกิดกรณีใดบ้าง หรือเมื่อค่าฝุ่นพิษถึงจุดที่อันตรายเท่าไหร่ ให้โรงเรียนใช้มาตรการใด แค่ไหนประกาศหยุด เพราะที่ผ่านมาท่ามกลางฝุ่นพิษกลบเมืองกรุง โรงเรียนจำนวนไม่น้อยยังคงปฏิบัติปกติ จะมีบ้างที่เปลี่ยนจากเข้าแถวหน้าเสาธง เปลี่ยนเป็นเข้าแถวหน้าห้องเรียน และหลีกเลี่ยงบ้างเมื่อมีกิจกรรมอยู่กลางแจ้งบางสถานการณ์

หรือการเรียกร้องให้ใช้กรณีฝุ่นพิษเป็นกรณีสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน ก็เป็นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง และจะได้สอนให้รู้จักวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ที่สำคัญ เป็นการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์อย่างไรด้วย

ล่าสุดกรมควบคุมโรค มีการเตือนหลังพบเด็กป่วยป่วยระบบทางเดินหายใจมีอาการแพ้อย่างหนักช่วงฝุ่นเกินมาตรฐานเนื่องจาก PM 2.5 เป็นฝุ่นพิษขนาดเล็กที่เมื่อถูกสูดเข้าไปจะสามารถผ่านลงไปลึกถึงหลอดลมฝอยและถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ก่อให้เกิดการระคายเคือง และเกิดการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทำให้คนที่เป็นโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง และอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น

ที่น่ากังวลคือการเจริญเติบโตทางกายภาพและสมรรถนะของปอดในระยะถดถอยจนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองเหมือนกับคนที่สูบบุหรี่อีกทั้งทารกในครรภ์มารดามีการเจริญเติบโตและอยู่ในช่วงกำลังพัฒนาอวัยวะต่างๆเช่นปอดและสมองการได้รับมลพิษในช่วงนี้อาจส่งผลระยะยาวต่ออวัยวะต่างๆ

เด็กจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบ เพราะ

เด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ มีสัดส่วนปริมาตรการหายใจต่อน้ำหนักตัวสูงกว่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสได้รับมลพิษทางอากาศมากขึ้น อีกทั้งด้วยโครงสร้างของร่างกายที่ยังไม่สูงระดับจมูกใกล้พื้นดินซึ่งอากาศไม่ถ่ายเทและมลพิษบางชนิดสะสมสูงจึงมีโอกาสได้รับมลพิษทางอากาศมากขึ้นรวมไปถึงระบบต้านทานต่อสิ่งแปลกปลอมไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุทางเดินหายใจระบบภูมิคุ้มกันยังเจริญไม่เต็มที่ไม่สามารถป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพ

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกเปิดเผยว่า เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีประมาณ 600,000 คน เสียชีวิตเพราะฝุ่นละอองและควันพิษ รวมทั้งคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ เมื่อสูดดมมลพิษและฝุ่นละอองในอากาศ ส่งผลให้เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ฝุ่นพิษยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งยังเพิ่มอัตราการเกิดโรคหอบหืด และโรคมะเร็งในเด็ก

ไม่หมดเท่านี้ เด็กที่สูดดมฝุ่นละอองและมลพิษมากๆ จะส่งผลให้เป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย

ที่สำคัญ อย่าลืมว่าส่วนใหญ่แล้วเด็กมักใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรมนอกบ้าน ยิ่งอายุน้อยเท่าไร ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กวัยเรียน

สอดคล้องกับข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยพูดถึงเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ซึ่งหมายรวมไปถึงคนอายุ 20 ปี เนื่องจากคนเราเกิดมามีถุงลมจำนวน 25 ล้านใบ พออายุ 10 ขวบจะพัฒนาเพิ่มเป็น 8 เท่า หรือ 300 ล้านใบ และปอดจะขยายตัวเต็มที่ที่อายุ 20 ปี จนเต็มประสิทธิภาพและค่อยลดลงไปตามอายุ ซึ่งฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองของปอดไม่ต่างจากควันบุหรี่

"ผลที่พบ คือ สมรรถภาพปอดของเด็กที่อยู่ในย่านที่มีฝุ่น PM 2.5 จะถดถอยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีฝุ่นหรือฝุ่นน้อย ถ้าประชากรต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นเช่นนี้หลายๆ ปี สมรรถภาพปอดที่อายุ 20 ปีจะเป็นจุดสูงสุดก็จะไม่ได้ และสมรรถภาพปอดจะลดลงเร็วกว่าเด็กที่ไม่สัมผัสฝุ่น ซึ่งในอายุ 40-50 ปี สมรรถภาพปอดอาจถดถอยเหมือนคนเป็นโรคถุงลมโป่งพองในคนสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการระคายเคืองของเซลล์ในปอดตลอดเวลา จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้เหมือนกับบุหรี่ในเวลา 10-20 ปีข้างหน้า”

ในขณะที่สถาบันวิจัยสุขภาพหลายแห่งในสหรัฐฯ ร่วมเผยแพร่รายงานเรื่องสถานะของสภาพอากาศโลก ระบุ มลพิษทางอากาศทำให้เด็กอายุสั้นลงถึง 20 เดือน รายงานระบุว่าเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในประเทศเอเชียใต้อย่างอินเดียและปากีสถาน มีความเสี่ยงสูงสุด มลพิษทางอากาศทำให้เด็กเกิดใหม่ทุกวันนี้ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงจะมีอายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 20 เดือน และประชากรโลกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก

ทางด้านองค์การยูนิเซฟ เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่ฝุ่น PM 2.5 มีต่อร่างกายและสมองของเด็ก ระบุว่าฝุ่นผงขนาดเล็กที่อยู่ในอากาศ หรือ PM2.5 มีขนาดเล็กกว่าเส้นขนมนุษย์ถึง 25 เท่า เมื่อหายใจเข้า ฝุ่นเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายทั้งทางจมูกและปาก อากาศจะผ่านระบบทางเดินหายใจ และเข้าไปถึงถุงลมที่อยู่ในส่วนลึกที่สุดของปอด

ฝุ่นพิษนี้ เมื่อเข้าไปถึงถุงลม สามารถแทรกซึมเข้ากระแสเลือดและถูกนำไปสู่อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ

ยูนิเซฟระบุว่าอัตราการเติบโตของสมองจะสูงสุดในช่วงแรกเกิด แต่การพัฒนานั้นจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในวัยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมีผลต่อเรื่องความจำ สมาธิ การควบคุมอารมณ์ และการเข้าสังคมเมื่อ PM 2.5 เข้าถึงสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ฝุ่นเหล่านี้จะสร้างความเสียหายต่อเซลล์สมอง อาจส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการพัฒนาทางปัญญา และความสามารถในการเรียนรู้ และการสะสม PM 2.5 ในร่างกาย จะส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทในภายหลัง

นอกจากนี้ ผลการวิจัยจากวารสารวิจัยจิตเวชของอังกฤษ ระบุว่าข้อมูลจากกลุ่มเด็กในกรุงลอนดอนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศโดยเน้นที่ความอันตรายที่มีต่อวัยรุ่น พบว่าเด็กอายุราว 12 ปีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุด มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า 3 ถึง 4 เท่าก่อนอายุ 18 ปี เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของเด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด

นักวิจัยระบุว่าเด็กและวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงเพราะสมองยังอยู่ระหว่างพัฒนา ฮอร์โมนกำลังมีการเปลี่ยนแปลง และสารพิษในอากาศนั้นเล็กพอที่จะสามารถข้ามแนวกั้นเลือดและสมอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงระหว่างการอักเสบในสมองและการพัฒนาอาการของโรคซึมเศร้า

เห็นข้อมูลแทบจะทุกสำนักก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า เรื่องฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย

ยิ่งตอนนี้ใกล้เทศกาลตรุษจีนอีกต่างหากว่าจะร้องขอมาตรการห้ามจุดธูปเทียนไหว้เจ้าจะเป็นไปได้ไหมหนอ หรือสุดท้ายก็ได้แต่ขอความร่วมมือกันไปอีก

ตอนนี้เรากำลังเผชิญกับสภาพการณ์โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เด็กเกิดน้อย ในขณะที่ผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

และตัวเลขของเด็กที่เกิดน้อย ก็มีจำนวนมากที่เกิดจากปัญหา “ท้องไม่พร้อม” และ “เศรษฐานะ” ไม่พร้อม รวมไปถึงองค์ความรู้ในการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพก็จะกระจุกอยู่กับครอบครัวที่พร้อม ส่งผลให้เด็กจำนวนมากถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสม จนที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลว่าสังคมไทยกำลังเผชิญปัญหา “เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ”

เมื่อมาเจอปัญหาเรื่องฝุ่นพิษPM2.5 เข้าไปด้วยแล้ว คำถามคือ...

หรือประเทศเรากำลังเผชิญวิกฤติ“เด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ และป่วยถ้วนหน้า”ซ้อนทับเข้าไปด้วย ?


กำลังโหลดความคิดเห็น