xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.จับพื้นที่นอกสายตากลับมาอยู่ในสายตาทั้งประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ 150 ล้านไร่โดยประมาณ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ชลประทานมีแหล่งน้ำชลประทานและระบบส่งน้ำประมาณ 30 ล้านไร่ ที่เหลือ 120 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานที่อาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น

พื้นที่ชลประทานจึงมีความมั่นคงสูงกว่า ทั้งมีแหล่งน้ำสนับสนุนต้นฤดูฝนและฤดูแล้ง แหล่งน้ำชลประทานยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยอีกด้วย เทียบกับพื้นที่นอกเขตชลประทานแล้ว เป็นคนละเรื่องทั้งไม่มีแหล่งน้ำเพียงพอ และไม่มีระบบชลประทานช่วยสนับสนุน

ยิ่งในฤดูแล้งอย่างนี้ พื้นที่นอกเขตชลประทานแทบจะถูกลืมไปเลย


“เวลาลงพื้นที่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรพึ่งพาตัวเองสูง และเสี่ยงสูงมาก เพราะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐนัก เมื่อเทียบกับพื้นที่ชลประทาน อย่างฤดูแล้งนี้ ถามว่าเดือดร้อนเรื่องน้ำขาดแคลนทำอย่างไร เขาบอกว่าต้องพึ่งตัวเอง ครั้นจะไปขอความช่วยเหลือก็ไม่รู้แจ้งได้ที่หน่วยงานไหน” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงประสบการณ์ลงพื้นที่จริง

“ถามเกษตรกรเขาก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร แจ้งใคร ไม่มีใครบอกเขาหรือเขาไม่ทราบ ทั้งที่ความจริงเขาสามารถแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง อบต.ก่อนได้เลย แล้วเคาะขึ้นไปตามลำดับ ต่อไปคงต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบมากกว่านี้”

ช่องว่างของปัญหานี้เอง สทนช.จึงบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติการด้านน้ำสำรวจปัญหาพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อหาเจ้าภาพรับผิดชอบ

“หน่วยงานที่ต้องดูแลพื้นที่นอกเขตชลประทาน มีทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น สทนช.ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ประสบปัญหาตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไป เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ ไม่เป็นพื้นที่ถูกลืม” ดร.สมเกียรติกล่าว

สำหรับฤดูแล้ง 2562/2563 มีพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรรุนแรง ถึงขั้นไม้ผลอาจยืนต้นตายมีจำนวนถึง 3.7 แสนไร่ ใน 30 จังหวัด ที่ต้องให้การช่วยเหลือเร่งด่วนผ่านแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง 2562/2563 โดยใช้งบประมาณกลางดำเนินการ ทั้งนี้ สทนช. มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน ทั้งแหล่งน้ำผิวดินและขุดบ่อบาดาล
ทั้ง 30 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ บุรีรัมย์ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

ในอนาคตที่จะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 คณะทั่วประเทศ ปัญหาน้ำขาดแคลนน้ำหรือปัญหาน้ำท่วมนอกเขตชลประทาน จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในแต่ละพื้นที่ที่ประสบปัญหาจะมีความชัดเจนตามลำดับ อย่างน้อย สทนช.กำหนดการแก้ไขปัญหาน้ำเชิงพื้นที่ (Area Based) จำนวน 66 พื้นที่ ครอบคลุมใน 22 ลุ่มน้ำใหม่

พื้นที่นอกเขตชลประทาน ถือว่าเป็นพื้นที่ขาดความมั่นคงด้านน้ำเป็นทุนอยู่แล้ว พื้นที่ใดมีศักยภาพพัฒนาก็เป็นพื้นที่ชลประทานไป พื้นที่ที่ยังไม่มีศักยภาพอีกมากก็ยังต้องดูแลให้ความช่วยเหลือเช่นกัน

“ในฐานะที่ สทนช.กำกับนโยบายด้านน้ำของประเทศ ก็ต้องดูแลและพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งพื้นที่ชลประทานและพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพื่อให้พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด”


ไม่ทิ้งพื้นที่ใดที่มีปัญหาไว้ข้างหลังเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น