“วีรศักดิ์” เดินหน้าปั้นสมาร์ทโชวห่วย ล่าสุดจัดเกรดร้านค้า 3 หมื่นรายแบ่งเป็น 4 ขนาด SS, S, M และ L ก่อนเข้าไปพัฒนา เผยไซส์ SS มีมากสุด 56.2% ตามด้วย S สัดส่วน 21.7% เตรียมผลกดดันไซส์ SS และ S ใช้โปรแกรม Mobile POS บริหารจัดการร้าน ส่วน M และ L ใช้ POS แบบคอมพิวเตอร์ เผย DEPA ให้คูปองส่วนลด 1 หมื่นบาท พร้อมดึงผู้ผลิตขายสินค้าราคาถูกให้ ดึงไปรษณีย์ใช้ร้านเป็นจุดรับส่งสินค้า และดึงสถาบันการเงินช่วยด้านเงินทุน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาร้านโชวห่วยให้เป็นสมาร์ทโชวห่วยว่า ขณะนี้ได้มีการสำรวจจำนวนร้านโชวห่วยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมาครบแล้ว โดยมีจำนวนกว่า 30,000 รายที่มีความพร้อมจะพัฒนาเป็นสมาท์โชวห่วย จึงได้ทำการแบ่งขนาดและรายได้ของร้านออกเป็น 4 ขนาด คือ ขนาด SS มีพื้นที่ 1 คูหา (ประมาณ 20 ตร.ม.) หรือรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/เดือน คิดเป็น 56.2% ของจำนวนร้านโชวห่วยทั้งหมด, ขนาด S มีพื้นที่ 2 คูหา (ประมาณ 40 ตร.ม.) หรือรายได้ 30,000-50,000 บาท/เดือน คิดเป็น 21.7%, ขนาด M มีพื้นที่ 3 คูหา (ประมาณ 60 ตร.ม.) หรือรายได้ 50,001-100,000 บาท/เดือน คิดเป็น 12.6% และขนาด L มีพื้นที่มากกว่า 3 คูหา (มากกว่า 60 ตร.ม.) หรือรายได้มากกว่า 100,000/เดือน คิดเป็น 9.5% เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือและพัฒนาได้ตรงจุด และทำให้ร้านโชวห่วยเป็นสมาร์ทโชวห่วยได้ตามเป้าหมาย
ในด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า จะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร คือ สถาบันการศึกษา, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ลงพื้นที่จัดหลักสูตรให้ความรู้ และช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้า เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้ามาเข้าร่วม ซึ่งจะดำเนินการกับร้านโชวห่วยทุกขนาด
ส่วนด้านการส่งเสริมการนำเทคโนโลยี POS มาใช้เพื่อบริหารร้านค้า สำหรับร้านขนาด SS และ S เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากและถูกจำกัดด้วยงบประมาณในการลงทุน จะส่งเสริมให้ใช้โปรแกรม Mobile POS ซึ่งปัจจุบันทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่เป็น Smart Phone อยู่แล้ว สามารถใช้อุปกรณ์ที่มีมาช่วยในการบริหารร้านได้อย่างเต็มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มเติมมากนัก ขณะที่ร้านขนาด M และ L เป็นร้านขนาดกลาง-ใหญ่ มีการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงต้องมีเครื่องมือและโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการได้แบบครบวงจรด้วยระบบ POS ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) โดยให้คูปองส่วนลดจำนวน 10,000 บาท เพื่อซื้อโปรแกรมดังกล่าวได้ในราคาพิเศษ แต่ถ้าร้านขนาด S มีความพร้อมในการลงทุน ก็สามารถใช้งานระบบและสิทธิประโชน์นี้ได้เช่นกัน
ด้านการส่งเสริมการตลาด จะร่วมกับผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่จัดโปรโมชันพิเศษสำหรับร้านค้าโชวห่วยเพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายในร้านด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และยังจะช่วยเพิ่มรายได้ด้วยบริการเสริม เช่น การสนับสนุนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยใช้พื้นที่ของร้าน SMART โชวห่วยเป็นจุดรับ-ส่งพัสดุ (Drop-off) รวมถึงเชื่อมโยงผู้ผลิตสินค้าชุมชน และ OTOP Select ให้นำสินค้ามาจำหน่ายในร้าน ซึ่งจะส่งผลดีตลอดทั้งวงจรของเศรษฐกิจในท้องถิ่น ทั้งผู้ผลิตสินค้ามีโอกาสกระจายสินค้าได้มากขึ้น และร้านโชวห่วยก็จะมีช่องทางการเพิ่มรายได้ ส่วนการเข้าถึงเงินทุน ได้ร่วมกับสถาบันทางการเงินให้การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ร้านโชวห่วยสามารถขยับขยายธุรกิจของตนเองให้เติบโตและมั่นคงได้