กฟผ.เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านนวัตกรรมถือหุ้น 40% ผนึกบริษัทลูกทั้ง RATCH EGCO ลุ้นผ่าน ครม.อนุมัติภายในเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมใส่งบในอินโนสเปซปั้นสตาร์ทอัพสู่เชิงพาณิชย์
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้านนวัตกรรรมพลังงานรูปแบบใหม่ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้หลังจากที่คณะกรรมการบริหาร กฟผ.ได้เห็นชอบเมื่อ 26 ธ.ค. 62 โดย กฟผ.จะถือหุ้น 40%, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ถือหุ้น 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้น 30% เบื้องต้นคาดว่าจะใช้ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท
“การจัดตั้งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมุ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เรื่องของเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (สมาร์ทกริด) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ กฟผ.บริหารงานได้คล่องกว่าการที่ให้ กฟผ.ดำเนินการเอง โดยจะเข้าไปร่วมสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัพ (Startup) ผ่าน บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่ง กฟผ.ได้สนับสนุนเงินผ่านบริษัทอินโนสเปซอยู่แล้วในการส่งเสริมการค้นคว้าและวิจัยนวัตกรรม” นายวิบูลย์กล่าว
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เตรียมลงนามสัญญาว่าจ้างกลุ่ม บี.กริม ซึ่งเป็นผู้รับเหมาติดตั้ง (EPC) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ (MW) ในวันที่ 26 ม.ค.นี้ หลังจากกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ร่วมกับพันธมิตรจีนในนามของ B.GRIMM POWER-ENERGY CHINA CONSORTIUM เป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอราคาประมูลต่ำสุด จากผู้ที่ผ่านทางเทคนิคทั้งหมด 21 ราย
สำหรับโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนสิรินธร กฟผ.ตั้งงบกลางที่ประมาณ 2,265.99 ล้านบาท นับเป็นโครงการนำร่องของ กฟผ. และเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดระหว่างโซลาร์เซลล์กับพลังน้ำแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะติดตั้งทดสอบระบบประมาณ 1 ปี โดยตามแผนงานผู้ประกอบการมีระยะเวลาดำเนินการประมาณ 12 เดือน ให้ทันการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไม่เกินเดือน ธ.ค.นี้ หรือต้นปี 2564