กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ บีโอไอ เร่งดันธุรกิจไทยลุยต่างประเทศมากขึ้นในปี 2563 ยังคงล็อกเป้าประเทศกลุ่ม CLMV และอินโดนีเซีย พร้อมมุ่งกลุ่มเอเชียใต้ ทั้งศรีลังกา อินเดีย ปากีฯ และบังกลาเทศ ที่นักธุรกิจไทยเริ่มสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานทดแทนและเกษตรแปรรูปเทรนด์มาแรง
น.ส.รัตนวิมล นารี สุกรีเขต นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนระดับชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า แผนงานของกองส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศในปีงบประมาณ 2563 จะมุ่งเน้นความสำคัญในการส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนยังประเทศในกลุ่มประเทศ CLMV(กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และเพิ่มอินโดนีเซีย หรือ CLMVI ที่ล่าสุดบีโอไอได้เปิดสำนักงาน ณ เมืองจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2561 พร้อมกับการให้ความสำคัญต่อกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ได้แก่ ศรีลังกา อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ซึ่งขณะนี้นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น และธุรกิจที่มาแรงในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและเอเชียใต้โดยเฉพาะปากีสถานและบังกลาเทศเป็นธุรกิจพลังงานทดแทน และเกษตรแปรรูป
“ก่อนหน้านั้นธุรกิจไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้านอยู่พอสมควรแล้ว โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ขณะนี้เทรนด์เริ่มมายังธุรกิจพลังงานทดแทนที่บูมสุด โดยเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่แนวโน้มทางประเทศเอเชียใต้ โดยเฉพาะปากีสถาน และบังกลาเทศนั้นเดิมก่อนหน้าจะมุ่งไปทางสิ่งทอที่ตลาดมีศักยภาพแต่ล่าสุดทิศทางก็เริ่มเป็นการเข้าไปลงทุนในพลังงานทดแทนมากขึ้น ส่วนธุรกิจอีกประเภทหนึ่งที่มาแรงคือเกษตรแปรรูปเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านและเอเชียใต้เองก็มีพืชผลทางการเกษตรพอสมควร โดยเฉพาะผลไม้แต่ไม่รู้จะสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างไร ก็เป็นโอกาสของธุรกิจไทยที่มีศักยภาพในการแปรรูปที่จะเข้าไปลงทุน” น.ส.รัตนวิมลกล่าว
สำหรับการส่งเสริมการลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ บีโอไอจะให้บริการข้อมูลแบบครบวงจร รวมถึงการมีศูนย์พัฒนาการลงทุนไทยในต่างประเทศ หรือ TOISC เพื่อจัดอบรมหลักสูตรนักลงทุนไทย ซึ่งปัจจุบันมีการอบรมแล้ว 17 รุ่น มีผู้ผ่านการอบรมจำนวน 609 ราย ซึ่งจากการสำรวจสถานภาพของนักลงทุนที่ผ่านการอบรมหลักสูตร "สร้างนักลงทุนไทยในต่างประเทศ" รุ่นที่ 1-15 ซึ่งมีจำนวนผู้จบหลักสูตรทั้งสิ้น 556 ราย พบว่าจำนวนนักลงทุน 245 รายมีการประกอบธุรกิจในต่างประเทศแล้วซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักรอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนรวม 55.9% รองลงมาเป็นธุรกิจขายส่งและขายปลีก สัดส่วน 13.9% ธุรกิจก่อสร้าง 5.7% โลจิสติกส์ 5.3% ธุรกิจพลังงาน 4.5 % โดยประเทศที่ไทยไปลงทุนมากสุดคือพม่า เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย
"เราตั้งเป้างบปี 63 ที่จะอบรม 50 ราย โดยจะเปิดช่วง มี.ค. 63 ซึ่งระยะหลังผู้ที่เข้ามาอบรมจะเป็นเด็กรุ่นใหม่มากขึ้นเพราะคิดเร็วและด้วยเทคโนโลยีที่เอื้อกว่าอดีต โดยขณะนี้การเข้าไปลงทุนยังประเทศเวียดนามถือว่ากำลังมาแรงเพราะอัตราเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับอดีต" น.ส.รัตนวิมลกล่าว