“วีรศักดิ์” ถกรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคลังภูฏาน ตั้งเป้าดันการค้าสองฝ่ายเพิ่มเป็น 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 64 เผยภูฏานชวนไทยลงทุนเพิ่ม และสนใจใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าศักยภาพ ทั้งหน่อไม้ฝรั่ง เห็ดมัตซึตาเกะ และถั่งเช่า ระบุได้ชวนมาร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อใช้เป็นช่องทางเปิดตัวสินค้าออกสู่ตลาดโลก ยันไทยพร้อมช่วยพัฒนาสินค้าท้องถิ่น และช่วยพัฒนา SMEs
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบกับนายนัมเกย์ เซริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังภูฏาน ในโอกาสเดินทางเยือนไทย และได้หารือกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยภูฏานแจ้งว่าได้ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับและเปิดกว้างกับการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น จึงเชิญชวนนักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในภูฏาน ขณะเดียวกัน ภูฏานมีความสนใจที่จะจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย เพื่อใช้เป็นฐานกระจายสินค้าและเผยแพร่สินค้าศักยภาพของภูฏาน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง เห็ดมัตซึตาเกะ และถั่งเช่า เป็นต้น ให้เป็นที่รู้จักในไทยและภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
“ได้ใช้โอกาสนี้เชิญให้ผู้ประกอบการภูฏานเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เช่น งาน ThaiFEX กลุ่มสินค้าอาหาร งาน STYLE กลุ่มสินค้าหัตถกรรม ของขวัญ ของตกแต่งบ้าน และแฟชั่น ซึ่งเป็นงานที่มีผู้ซื้อและผู้นำเข้าจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมงาน เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าศักยภาพของภูฏานสู่สายตาต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้ ยังได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 ตามที่ผู้นำสองประเทศตั้งเป้าไว้ในเมื่อปี 2561 และเร่งเพิ่มความร่วมมือในสาขาท่องเที่ยว เกษตร หัตถกรรม และการบริการสุขภาพ โดยปัจจุบันไทยมีนักธุรกิจเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมที่ภูฏานหลายแห่ง จึงเห็นว่าทั้งสองฝ่ายสามารถต่อยอดความร่วมมือและธุรกิจในเรื่องร้านอาหาร สปา และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ขณะที่ภูฏานแจ้งว่า ปัจจุบันมีชาวภูฏานจำนวนมากสนใจมาศึกษา และรับบริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลเอกชนของไทยมากขึ้นซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถเพิ่มความร่วมมือในสาขาเหล่านี้ได้เช่นกัน
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า การที่ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยให้แก่ภูฏาน และการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย (OTOP) กับการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของภูฏาน (OGOP) และไทยยินดีให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ภูฏานในด้านต่างๆ เช่น การพัฒนา SMEs เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับการยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้ปานกลาง
ปัจจุบัน ภูฏานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 130 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 7 ในภูมิภาคเอเชียใต้รองจากอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และเนปาล ตามลำดับ โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) การค้ารวมสองฝ่ายมีมูลค่า 39.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปภูฏาน 39.73 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผ้าผืน สิ่งทออื่นๆ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น และเป็นการนำเข้าจากภูฏาน 0.12 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น