คณะกรรมการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ให้นิด้าปรับปรุงรายงานผลการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ให้สมบูรณ์ ส่งผลให้คำตอบที่จะต้องสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา ควรมีหรือไม่ในสิ้นปีเลื่อนไปเป็น เม.ย. 63 และภายในสิ้นปีนี้จะสรุปผลการศึกษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ครอบคลุม 15 จังหวัด
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยถึงการศึกษา “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้” ที่ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาทจากกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ว่า กรอบระยะเวลาการศึกษาคงจะต้องเลื่อนออกไปจากเดิมอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 โดยคาดว่าการศึกษาที่จะได้คำตอบในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และเทพา จ.สงขลาควรมีหรือไม่ จะสรุปสิ้นปีนี้เลื่อนไปเป็น เม.ย. 2563 และผลสรุปการศึกษาโรงไฟฟ้าภาคใต้ครอบคลุม 15 จังหวัดจะได้คำตอบจาก เม.ย. เป็นปลายปีนี้แทน
"สาเหตุที่ต้องล่าช้าออกไปเนื่องจากคณะกรรมการ SEA พบว่าการนำเสนอรายงานเบื้องต้นของนิด้าเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสานเสวนานั้น ข้อมูลยังไม่ชัดเจนจึงให้กลับไปปรับปรุงรายงานใหม่ ขณะเดียวกัน นิด้าจะต้องจัดทำสานเสวนาให้ครบ 4 ครั้ง ซึ่งรอบแรกจัดไปแล้วเมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา และยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร" นายมนูญกล่าว
สำหรับการจัดทำสานเสวนารอบ 2 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ เร็วๆ นี้ โดยรอบสุดท้ายจะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะเชิญแกนนำทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินและฝ่ายที่เห็นต่างมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น โดยการสานเสวนาทั้ง 4 ครั้งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้เพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้น แต่ภาพรวมทั้งภาคใต้ ที่ต้องศึกษาว่าควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ถ้ามีจะสร้างที่ใด และถ้าไม่มีจะใช้เชื้อเพลิงใดทดแทน และควรมีกี่โรง เป็นต้น ทางนิด้าจะต้องจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จปลายปี 2563 และจะนำเสนอคณะกรรมการ SEA จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาให้ความเห็นต่อไป
"ปัจจุบันการทำงานก็ถือว่าคืบหน้าไปแล้ว 40% โดยหากผลการศึกษาฯ พบว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ จะนำไปสู่การปรับให้มีการบรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP เนื่องจากแผน PDP จะมีการทบทวนทุก 3-4 ปี แต่คาดว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ในขณะนี้" นายมนูญกล่าว