xs
xsm
sm
md
lg

GPSC ส่งผลศึกษาบริหารขยะอุตฯ ใน EEC รอ กพอ.ชี้ขาดเลือกแนวทางใด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าไปช่วยทำการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการของเสียอุตสาหกรรม (industrial waste) ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดี

GPSC ได้ส่งผลการศึกษาให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ เบื้องต้นได้วางแนวทางดำเนินการไว้ 2 รูปแบบ คือ 1. การรวมศูนย์การกำจัดขยะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ได้โรงกำจัดขยะ กากของเสียอุตสาหกรรม หรือโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ และ 2. การกระจายศูนย์การกำจัดขยะไปยังพื้นที่รอบๆ อีอีซีอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีนี้จะทำให้โรงไฟฟ้ามีขนาดเล็กลง

ทั้ง 2 รูปแบบจะมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน โดยการรวมศูนย์การกำจัดขยะ แม้ว่าจะทำให้ได้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่กระบวนการโลจิสติกส์ในการขนถ่ายกากของเสียต่างๆ ก็จะดำเนินการไปรวมกันในที่เดียว ฉะนั้น กพอ.ต้องไปดูว่าโครงสร้างพื้นฐานในจุดนั้นเหมาะสมที่จะดำเนินการหรือไม่ โดยเบื้องต้นเข้าใจว่ารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดน่าจะเป็นวิธีการกระจายศูนย์การกำจัดขยะ เพราะจะเป็นการกระจายโรงไฟฟ้าออกไปยังพื้นที่อีอีซีในวงกว้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทาง กพอ.ว่าจะพิจารณาเลือกวิธีการใด

“GPSC ก็เข้าไปช่วยทำการศึกษาในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการจริงๆ จะเปิดให้เอกชนรายใดเข้ามาดำเนินการจัดตั้งโรงไฟฟ้านั้น ทาง กพอ.ก็ต้องไปดูกฎระเบียบว่าจะดำเนินการอย่างไร จะใช้มาตรฐานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ทำหน้านี้กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าเข้ามากำหนดหลักเกณฑ์หรือไม่ หรือจะประกาศเป็นนโยบายพิเศษหรือไม่ เพื่อจะให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปเสนอตัวที่จะดำเนินการ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กพอ.” นายชวลิตกล่าว

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาที่เสนอไป ไม่จำเป็นว่าโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่อีอีซี จะต้องเกิดขึ้นทั้ง 6 แห่ง แต่จะเป็น 4-6 ก็สามารถดำเนินการได้อยู่ที่การพิจารณาความเหมาะสมของ กพอ. และจากผลการศึกษาที่เสนอไปจะเน้นเรื่องของการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม เนื่องจากมองว่าการลงทุนในอีอีซีมุ่งเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่วนขยะที่เกิดขึ้นจากที่บ้านอยู่อาศัย ก็มีโครงการของภาครัฐดำเนินการตามประกาศ กกพ.อยู่แล้ว


ส่วนในอนาคต GPSC จะเข้าไปร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่อีอีซีเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ยังขอรอดูการประกาศรายละเอียดโครงการที่ชัดเจนจากภาครัฐก่อนจึงจะสามารถตัดสินใจได้

รายงานการประชุม กพอ. เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 62 ระบุว่า ตามแผนบริหารจัดการขยะในอีอีซี จะตั้งโรงงานกำจัดขยะและโรงไฟฟ้าขยะ 6 แห่ง โดยตั้งศูนย์กำจัดขยะแปลงเป็นไฟฟ้าต้นแบบ 1 แห่ง รวมกำลังการผลิต 105 เมกะวัตต์ กำจัดขยะได้วันละ 5,024 ตัน


กำลังโหลดความคิดเห็น