กรมทางหลวงลุย 7 โครงการใหญ่ในปี 63 มูลค่ากว่า 1.24 แสนล้าน จ่อประมูลก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 5, ถนนเชื่อมอู่ตะเภา, ขยาย 4 เลน สายพังงา เร่งตอกเข็มใน พ.ค. 63 ชง ครม.เคาะ PPP มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ และยกระดับพระราม 2
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.มีการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ในปี 2563 รวม 7 โครงการ วงเงินรวม 124,506 ล้านบาท โดยมีโครงการที่มีความพร้อม เนื่องจากออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้วจำนวน 5 โครงการ โดยอยู่ระหว่างการคำนวณราคากลาง เพื่อเปิดประกวดราคาและคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างและลงนามในสัญญาภายในเดือน พ.ค. 2563 มีกำหนดเปิดให้บริการ ปี 2566
ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ระยะทาง 16.8 กม. วงเงิน 3,930 ล้านบาท (ฝ่ายไทย 2,630 ล้านบาท) เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาวไปยังตลาดจีนตอนใต้อีกด้วย
2. โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองหนองคาย (ด้านตะวันออก) ระยะทาง 16.127 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท เป็นโครงข่ายทางหลวงเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ แก้ปัญหาจราจรผ่านเมือง และเชื่อม เกตเวย์ ระหว่างไทย-สปป.ลาว
3. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3 สาย พัทยา-สัตหีบ ระยะทาง 22.242 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท เป็นโครงข่ายทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และสนับสนุนสนามบินอู่ตะเภา
4. โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 290 ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 24.686 กม. วงเงิน 3,060 ล้านบาท
5. โครงการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทล.415 สายพังงา-อ.บ้านตาขุน ตอน บ.บางคราม-บ.ปากน้ำ ระยะทาง 26.78 กม. วงเงิน 1,600 ล้านบาท สนับสนุนการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เชื่อมโยงทะเลอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน
นอกจากนี้ มีแผนโครงการที่ใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 32,210 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 31,120 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 640 ล้านบาท ซึ่ง ทล.จะดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ช่วง บางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทาง 10.8 กม.แรกเอง วงเงิน 10,500 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างต้นปี 2563 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี มีกำหนดเสร็จในปี 2565
ส่วนงานโยธาอีก 15 กม. ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว และงานระบบ O&M ตลอดสาย จะให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP)อยู่ระหว่างการสรุปผลการศึกษา คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในต้นปี 2563 เบื้องต้น จะใช้รูปแบบ PPP net cost ระยะเวลา 33 ปี แบ่งเป็นระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี จัดเก็บค่าผ่านทางและบริหารโครงการ 30 ปี
และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงิน 79,006 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,716 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 18,290 ล้านบาท โดยคณะกรรมการ PPP ให้ความเห็นชอบรูปแบบ PPP net cost แล้ว ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่พักริมทาง จากนั้นจะเสนอ ครม.ต่อไป คาดว่าจะจะเปิดประมูล และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 แล้วเสร็จปี 2567