แฉ บขส.ดัดแปลงรถ บรรทุกน้ำหนักเกิน แถมใช้รถผิดประเภท จากรถโดยสารไปขนสินค้า ขณะที่กรมการขนส่งฯ เมินตรวจสอบ ล่าสุด ถูกจับคาด่านชั่งน้ำหนัก “หน้าพระลาน” จ.สระบุรี และด่าน “วังน้อย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุระชัย กนกะปิณฑะ ผู้ประกอบการรถบรรทุกภาคอีสาน ได้ร้องเรียนข้อมูลกรณีรถโดยสาร บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ทำผิดกฎหมาย ด้วยการนำรถโดยสารทำการดัดแปลงขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการใช้รถผิดประเภทและมีการบรรทุกน้ำหนักเกินจากที่กฎหมายกำหนด
นายสุระชัยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2562 เวลาประมาณ 23.30 น. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงประจำด่านชั่งน้ำหนัก หน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ได้ตรวจรถโดยสารของ บขส. ทะเบียน 41-6467 กรุงเทพมหานคร พบว่ามีน้ำหนัก 16.8 ตัน ซึ่งเกินจากที่ พ.ร.บ.ทางหลวงกำหนด โดยรถโดยสาร 4 ล้อ 2 เพลา ยาง 6 เส้น น้ำหนักไม่เกิน 15 ตัน เท่ากับน้ำหนักเกินจากกฎหมายกำหนดถึง 1.8 ตัน
ซึ่งเจ้าพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเฉลิมพระเกียรติ อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารเพื่อส่งดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย
ทั้งนี้ หลังถูกจับเจ้าหน้าที่ของ บขส.ได้เข้าติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งได้มีการแจ้งข้อหาเพิ่มนอกจากน้ำหนักเกินแล้วยังมีการดัดแปลงสภาพรถโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากพบว่ารถคันดังกล่าว บขส.จดทะเบียนเป็นรถโดยสารระบุมี 12 ที่นั่ง ขณะที่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจกลับไม่พบเก้าอี้ที่นั่งตามที่แจ้งไว้ในใบอนุญาต โดยพบมีสินค้า พวกสินค้าอุปโภค บริโภค เต็มคันรถ
นอกจากนี้ยังพบว่ารถคันดังกล่าวแจ้งว่ามีการเข้าตรวจสภาพเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2562 โดยสถานตรวจสภาพรถของ บริษัท ขนส่ง จำกัด เลขที่ ปท 2/2550 เท่ากับ บขส.ทำผิดระเบียบเองหรือไม่ ขณะที่เมื่อมีการกระทำผิดอย่างจงใจ เหตุใดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตจึงละเลย ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ก่อนที่รถคันดังกล่าวจะถูกเรียกสกัดตรวจที่ด่านหน้าพระลานนั้น รถคันดังกล่าวได้หลีกเลี่ยงที่จะเข้าชั่งน้ำหนักที่ด่านวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนแล้ว และขับด้วยความเร็วกว่า 120 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วที่เกินจากที่กฎหมายกำหนดสำหรับรถโดยสารสาธารณะที่ให้มีความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. จึงสงสัยว่าระบบ GPS ที่กรมการขนส่งฯ ยังสามารถตรวจสอบความเร็วรถโดยสารได้ทุกคันหรือไม่
ต่อมาวันที่ 19 ธ.ค. เวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่กรมทางหลวงด่านชั่งน้ำหนักวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ตรวจจับรถโดยสาร บขส. ทะเบียน 41-6468 ในลักษณะเดียวกัน คือมีน้ำหนักเกินจากกฎหมายกำหนดกว่า 600 กก. และดัดแปลงสภาพรถโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายสุระชัยกล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการรถบรรทุก ปฎิบัติตามกฎหมาย ขณะที่หน่วยงานรัฐ ทั้ง บขส.มีการทำผิดเอง ใช้รถผิดประเภท ส่วนกรมการขนส่งฯ ในฐานะผู้กำกับดูแล ไม่ดำเนินการ นอกจากนี้ จากการติดตามข้อมูล พบว่า สภ.เฉลิมพระเกียรติยังไม่มีการส่งฟ้องเพราะอยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร แต่ สภ.วังน้อยได้ทำเรื่องส่งฟ้องไปแล้ว