กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยเทรนด์การบริโภคโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์กำลังมาแรง ชี้เป็นสินค้าดาวรุ่งตัวใหม่ แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกศึกษาและวางแผนผลักดันส่งออก “ทูตพาณิชย์เยอรมนี” ยันมีการผลิตสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น รวมถึงโปรตีนจากแมลง ส่วนในแคนาดาพบคนนิยมเพิ่มขึ้น จากการห่วงใยเรื่องสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์และทิศทางสินค้าอาหารที่กำลังมาแรง โดยพบว่าสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติหรือกลุ่มที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ (กลุ่มวีแกน) และสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์กำลังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้บริโภคให้ความนิยมบริโภคเพิ่มมากขึ้น จึงกลายเป็นสินค้าดาวรุ่ง และเป็นสินค้าตัวใหม่ที่มีโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย ซึ่งกรมฯ จะมีการติดตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และนำมารายงานให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยได้ศึกษาและหาโอกาสในการขยายตลาดต่อไป
นายวิรจิต สุวรรณประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี กล่าวว่า จากการเข้าไปสำรวจตลาดนวัตกรรมอาหารภายในงานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ในเมืองโคโลญ เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าสินค้าอาหารที่ใช้โปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการนำมาผลิตเป็น นม เนื้อสัตว์ ไส้กรอก เนื้อเบอร์เกอร์ ไข่เหลวที่ทำจากถั่วเขียว และเบคอนทำจากเห็ด เป็นต้น โดยกลุ่มวีแกนเป็นกลุ่มบริโภคหลัก
นอกจากนี้ ไม่ใช่เพียงโปรตีนจากพืชเท่านั้นที่จะนำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์อย่างไก่ หมู หรือเนื้อวัว แต่โปรตีนจากแมลง เช่น จิ้งหรีด หนอนนก ที่นำมาใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีความอร่อย มีโปรตีนสูง โดยมองกันว่าจะเป็นโปรตีนแห่งอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทที่เริ่มผลิตออกจำหน่ายแล้ว เช่น เนื้อเบอร์เกอร์ที่มีส่วนผสมของโปรตีนจากหนอนนก ผักโขม ขมิ้น และบีตรูต มีวางจำหน่ายในห้าง Coop ในสวิตเซอร์แลนด์ และกำลังจะถูกนำไปจำหน่ายในเยอรมนี และยังมีการผลิตโปรตีน Bar จากแป้งจิ้งหรีด หนอนนก และจิ้งหรีดกรอบผสมถั่วต่างๆ วางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับโอกาสของไทย พบว่าผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่ปลูกพืชโปรตีน หรือเพาะเลี้ยงแมลงควรที่จะศึกษาแนวโน้มของตลาด และหาทางผลักดันการส่งออก โดยสามารถส่งออกทั้งสินค้าที่ผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปแล้ว หรือส่งออกเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้านำไปผลิตเป็นสินค้าต่อ
ด้านนายธนกฤต เหลืองอาสนะทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต แคนาดา กล่าวว่า ในตลาดแคนาดา สินค้าที่ใช้ธัญพืชมาผลิตทดแทนเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนจากพืช ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทผู้ผลิตในแคนาดาหลายราย รวมถึงบริษัทอาหารชั้นนำของโลกได้หันมาลงทุนวิจัย ทำการผลิต และจำหน่ายสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่บูมอย่างที่คิด แต่มีการขยายตัวอย่างช้าๆ และจะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะคนเริ่มมองหาสินค้าที่จะมาทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทยควรจะศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของโอกาสเนื้อทางเลือก ที่ผลิตจากธัญพืช เพราะมีความต้องการบริโภคจากกลุ่มมังสวิรัติเพิ่มขึ้น โดยในแคนาดามีถึง 10% ของประชากรทั้งหมด และในโลกตะวันตกก็มีผู้บริโภคกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
“จากกระแสดังกล่าวที่คนหันมาบริโภคโปรตีนจากธัญพืชกันมากขึ้น น่าจะสร้างโอกาสทางการค้าให้แก่ไทย เพราะแคนาดาไม่มีข้อจำกัดการนำเข้าสินค้าอาหารที่ผลิตจากธัญพืช จึงน่าที่จะเป็นสินค้าศักยภาพตัวใหม่ของไทยในอนาคต หากมีการพัฒนามุ่งเน้นในเรื่องคุณสมบัติทางโภชนาการที่ดีต่อร่างกายควบคู่ไปกับการพัฒนารสชาติที่ให้มีรสชาติใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ให้มากที่สุด ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคยอมรับและหันมาบริโภคเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อการส่งออกเพิ่มขึ้น” นายธนกฤตกล่าว
สำหรับสินค้าที่ใช้โปรตีนจากพืชมาผลิตในตลาดแคนาดา พบว่ามี 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. คาโนลา เป็นธัญพืชที่ส่วนใหญ่นำมาผลิตน้ำมันพืชและอาหารสัตว์ เนื่องจากมีคุณสมบัติปริมาณสารโปรตีนที่สูง มีกรดอะมิโนและสาร Methionine ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และสาร Cysteine ที่รักษาความสมดุลของแร่ธาตุสารอาหารในร่างกาย ซึ่งเป็นสารอาหารที่พืชตระกูลถั่วอื่นๆ ไม่มี โดยนักวิทยาศาสตร์อ้างว่าหากมีการผสมกันระหว่างถั่ว Pea กับ Canola ก็จะมีสารอาหารโปรตีนที่ใกล้เคียงกับนมวัว
2. กัญชง (HEMP) มีสารอาหารกรดอะมิโนที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า 10 ชนิด อาทิ Omega 3-6 ที่เมื่อมาผลิตเป็นเนื้อสัตว์ทางเลือกแล้ว จะมีรสชาติหรือ Texture คล้ายถั่ว อีกทั้งยังไม่เคยมีการรายงานว่ามีผู้บริโภครายใดแพ้กัญชง และทุกวันนี้ชาวแคนาดาหันมาบริโภคเมล็ดกัญชงมากขึ้น โดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร เครื่องดื่ม หรือผู้ผลิตอาหารทำมาเป็นส่วนผสมในสินค้า เช่น Chocolate Bar, Nutrition Bar ที่วางจำหน่ายทั่วไปในร้าน Health Food จนถึงห้างทั่วไปอย่าง Wal-Mart, Costco
3. Lentil เป็นถั่วที่ปลูกอย่างแพร่หลายในแคนาดา ที่เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักจากแคนาดาไปยังประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา โดยมีคุณสมบัติทางโภชนาการที่อุดมไปด้วยไวตามินบี แมกนีเซียม สังกะสี และโพแทสเซียม อีกทั้งยังมีรสชาติที่จืด ง่ายต่อการปรุงแต่งกลิ่น สี รส เพื่อผลิตเป็นสินค้าอาหารชนิดอื่นได้
4. ถั่วเขียว ได้เริ่มเป็นที่นิยมในอเมริกาเหนือ ถูกนำมาใช้แทนไข่ไก่ และถูกใช้เป็นวัตถุดิบทำแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม หรือนำมาผลิตผสมในเส้นพาสตา โดยถั่วเขียวมีประโยชน์ในเรื่องของมีระดับโปรตีนที่สูง ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมโรคเบาหวาน มีสาร Antioxidant ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด