GPSC ลุยติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) เชิงพาณิชย์ นำร่องสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน (PTT Station-Cafe Amazon) สาขาศูนย์วิจัยวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แห่งแรกของ OR ต่อยอดโครงการติดตั้ง Solar Rooftop ก้าวสู่สมาร์ท เอเนอร์ยี โซลูชัน เดินหน้าเปิดใช้งานอีก 2 แห่งไตรมาสแรก ปี 63
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสินทรัพย์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ GPSC ได้ร่วมมือกับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน (Digital Platform) ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน (PTT Station และ Cafe Amazon) ไปแล้วนั้น ล่าสุด GPSC ได้เปิดตัวด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) นำร่อง (Pilot Project) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และร้าน คาเฟ่ อเมซอน สาขาศูนย์วิจัยวังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแห่งแรก ที่สามารถใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยมีเป้าหมายที่จะติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อการศึกษาและพัฒนาระบบสมาร์ท เอเนอร์ยี โซลูชัน (Smart Energy Solution) เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง คือ สถานีน้ำมันสาขามีนบุรี และสาขาจอมเทียน พัทยา คาดว่าจะเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2563
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นระบบสมาร์ท เอเนอร์ยี โซลูชัน ที่ประกอบด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่ง GPSC จะออกแบบการติดตั้งระบบที่คำนึงถึงโครงสร้างของอาคารที่สามารถรองรับการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา รวมถึงการประเมินปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำไปสู่การออกแบบระบบการกักเก็บพลังงานให้เหมาะสม
“การติดตั้งระบบ ESS ดังกล่าวนับเป็นโมเดลของเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานของกลุ่ม ปตท.อย่างแท้จริง โดยมุ่งหวังให้เกิดศักยภาพการดำเนินงานทางด้านนวัตกรรมพลังงาน และเป็นผู้นำในการนำระบบกักเก็บพลังงานมาใช้ร่วมกับพลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถขยายผลไปในเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต”
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันนวัตกรรม ปตท.ในการออกแบบและพัฒนาระบบ ESS รวมถึงระบบสั่งการและควบคุมผ่านมือถือ (Mobile Software) เพื่อการควบคุมสั่งงานระบบ ESS เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าผ่านการควบคุมระยะไกล โดยสามารถเก็บข้อมูลช่วงเวลาของการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบเรียลไทม์ (Real Time) ที่สามารถเลือกแหล่งจ่ายไฟฟ้า ทั้งจากระบบ ESS และระบบสายส่งของการไฟฟ้าตามช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือในช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของวัน (Peak Time) เพื่อให้ต้นทุนการใช้ไฟฟ้าในสถานีบริการน้ำมันลดลง ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานจะมีการจัดเก็บไว้ในระบบคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ (Cloud Server) ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลการใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทฺธิภาพ