บอร์ด รฟม.รับทราบผลศึกษา PPP “แทรมป์ภูเก็ต” สั่งอนุฯ ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง ก่อนชงบอร์ดอนุมัติในเดือน ธ.ค. เผยปรับแบบยกระดับแก้ปัญหาแชร์เลนถนน ค่าก่อสร้างเพิ่มเป็น 2.7 หมื่นล้าน “สราวุธ” คาดเปิดประมูล กลางปี 63
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาได้รับทราบรายงานผลการศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) ซึ่งมีการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 ซึ่งจะใช้รูปแบบ PPP Net Cost
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการประชุมบอร์ด รฟม.ชุดที่มีตนเป็นประธานครั้งแรก ดังนั้นเพื่อความรอบคอบบอร์ดจึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการบอร์ดฯ ไปพิจารณารายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง และสรุปรายงานบอร์ดในการประชุมครั้งต่อไป โดยหลังจากบอร์ดเห็นชอบแล้วจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ตามขั้นตอน โดยคาดหากไม่มีข้อติดขัดจะสามารถเริ่มขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้กลางปี 2563
“รถแทรมป์ภูเก็ตต้องเกิดแน่ ในฐานะที่ผมเกี่ยวข้องกับโครงการนี้มาตั้งแต่แรก จากทั้ง 4 หน่วยที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เป็น ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และขณะนี้เป็นอธิบดีกรมทางหลวงและเป็นประธานบอร์ด รฟม.ด้วย ซึ่งตอนนี้กรณีที่ต้องมีการปรับแบบก่อสร้าง บนเส้นทางที่อยู่บนเขตทางหลวงได้ข้อสรุปหมดแล้ว โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยมากที่สุด” นายสราวุธกล่าว
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า การปรับแบบตามข้อเสนอกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อลดผลกระทบการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 402ได้ข้อสรุปลงตัวแล้ว ซึ่งในการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กม. จะมีโครงสร้างบางช่วงเป็นทางยกระดับ และมีส่วนที่ต้องเวนคืนเพิ่ม เช่น เพื่อเพิ่มความโค้งของแนวเส้นทางช่วงจากแยกทางเข้าสนามบิน กว้างประมาณ10-12 เมตร ใช้พื้นที่รวมประมาณเกือบ 10 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง ที่ดินของเอกชน
ทำให้ค่างานโยธาเพิ่มจาก 23,499 ล้านบาท เป็นกว่า 27,000 ล้านบาท งานระบบอยู่ที่ประมาณ 6,600 ล้านบาท ส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอยู่ที่ประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท ผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) ประมาณ 12.9 % ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง