นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 7 (มอเตอร์เวย์) ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กม. มีความคืบหน้าตามแผนและคาดว่าจะเปิดให้ใช้งานช่วงกลางปี 2563, ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้า 82% คาดว่าเปิดให้บริการเต็มรูปแบบช่วงต้นปี 66
ส่วนทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96.41 กม. ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 12,032 ล้านบาทแล้ว เพื่อใช้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนกว่า 4,000 ราย แบ่งเป็นที่ดินจำนวน 2,577 ราย ที่เหลือเป็นต้นไม้ 998 ราย และสิ่งปลูกสร้างอีกกว่า 900 ราย
ทล.มีเงินแล้วจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท ส่วนอีกกว่า 6,000 ล้านบาทได้ทำเรื่องถึงกรมบัญชีกลางเพื่อขอโอนเปลี่ยนแปลงจากงบส่วนของงานโยธาที่กันไว้ในปี 61 ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินค่าเวนคืนได้ในวันที่ 1 ธ.ค. 62 และครบทุกรายภายในเดือน ธ.ค. 62
สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนงานระบบพร้อมการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 และ 81 คาดสามารถลงนามสัญญาได้ภายในเดือน ก.พ. 63 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้สิ้นปี 66 ทั้งนี้ หากงานก่อสร้างโยธาดำเนินการแล้วเสร็จก่อนกรมทางหลวงอาจพิจารณาเปิดให้บริการก่อนบางช่วง
สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาการจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ บริเวณหน้าด่านฯ ทับช้าง 2 นั้น ทล.ได้ดำเนินการปรับปรุงทางกายภาพ การบริหารการจราจรหน้าด่าน จัดเจ้าหน้าที่หน้าตู้ในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมส่งเสริมมาตรการจูงใจผู้ใช้เส้นทางโดยการใช้ระบบอัตโนมัติ (ETC) ลดเงินสำรองเพื่อสมัครบัตร M-Pass เหลือ 300 บาท และลดการเติมเงินขั้นต่ำเหลือ 100 บาท
นอกจากนี้ ทล.ยังได้พิจารณาลดค่าผ่านทางสำหรับผู้ใช้บัตร M Pass ลง 5% ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากจะกำหนดกฎกระทรวงกำหนดค่าผ่านทางเป็น 2 อัตรา คือ รถที่ใช้เงินสด และรถที่ใช้บัตร M Pass และการขอแก้ พ.ร.บ.กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์ฯ พ.ศ. 2497 เนื่องจากตามกฎกระทรวงระบุว่าในการจัดเก็บค่าผ่านทางตามชนิดของรถยนต์ และตามระยะทางไม่ได้ระบุวิธีการจัดเก็บ นอกจากนี้ยังหารือถึงประเด็นที่ ทล.สามารถนำเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมกองทุนค่าผ่านทางไปสนับสนุนรายได้ที่หายไปได้หรือไม่
ซึ่งการจูงใจให้ประชาชนใช้ระบบอัตโนมัติ (ETC) เพิ่มบนมอเตอร์เวย์ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหารถติดหน้าด่าน ซึ่งปัจจุบันมีรถยนต์ 4 ล้อบนมอเตอร์เวย์สาย 7 สาย 9 และช่วงบางขุนเทียน-พระประแดง จำนวน 579,768 คัน แล้วยังลดปัญหามลภาวะด้วย
นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัท ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ต่อขยาย การลดราคาค่าผ่านทางโดยการจำหน่ายคูปองส่วนลด 5% ต่อเล่ม เนื่องจากโปรโมชันเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 21 ธ.ค. 62
@ลุยนโยบาย 120 กม./ชม. เทงบ 600 ล้าน ผุดทางลอด-ปิดจุดกลับรถ นำร่องสายเอเชีย
ส่วนการกำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไปให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม.ที่ช่องทางขวาสุดนั้น จากการสำรวจและศึกษาด้านความปลอดภัยด้านวิศวกรรมพบว่าสามารถดำเนินการได้ประมาณ 252 กม. โดยจะนำร่องบนทางหลวงหมายเลข 32 ระยะทาง 45.9 กม. โดยระยะแรกภายในงบปี 63 จะดำเนินการใน 50 กม.ก่อน เริ่มจากบางปะอิน (ช่วง กม.4-กม.50) และระยะต่อไปอีก 100 กม.ดำเนินการปีงบประมาณ 64
ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับปรุงติดตั้งป้ายจราจร ตีเส้น และอุปกรณ์กั้น ปรับจุดกลับรถเป็นทางลอด ซึ่งในช่วงที่ 2 (กม.50-กม.150 ) มีจุดกลับรถ 44 แห่ง โดยจะปิดจุดกลับรถและปรับเป็นทางลอด 35 แห่ง ใช้งบปรับปรุงแห่งละ 10 ล้านบาท (รวมประมาณ 600 ล้านบาท) ทั้งนี้ รถใหญ่สามารถใช้จุดกลับรถที่เป็นเกือกม้าที่มีอยู่ตลอดเส้นทางได้ ไม่ได้มีผลกระทบ ซึ่งในอนาคตถนนสายเอเชียจะไม่มีจุดกลับรถที่พื้นราบ นอกจากจะทำความเร็วได้แล้วยังช่วยลดอุบัติเหตุลงได้