เลขาฯผู้ตรวจฯ ลงพื้นที่พญาไทตรวจสอบ หลังกทม.ปล่อยคอนโดผุดแน่น ไม่สนผังเมือง กระทบคุณภาพชีวิตปชช.ในพื้นที่ เชิญฝ่ายเกี่ยวข้องถก ด้านทนายที่ทำคดีป้าทุบรถด้วย ขู่มีผุดอีกฟ้องศาล เผยเกือบทุกอาคารสูงเกินกม.กำหนด
วันนี้ (5เม.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องร้องเรียน หลังชมรมอนุรักษ์พญาไทร้องเรียนกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เหตุปล่อยให้มีการอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมและอาคารสูงจำนวนมากบริเวณซอยพหลโยธิน 5 - 11 และในชุมชนใกล้เคียง โดยมิได้คำนึงถึงผังเมืองและลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่จำกัด ซึ่งเขตพญาไทนั้นได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่สีน้ำตาล คือ เขตที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก การมีอาคารสูงเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ประสบกับสภาวะความแออัด ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น การจราจรติดขัด การขาดแคลนที่จอดรถ การทำผิดกฎจราจร การตัดต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อปรับปรุงถนน และปัญหามลภาวะต่าง ๆ ควันพิษ ขยะล้น น้ำเสีย และน้ำท่วมขังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากนั้น ในระหว่างการก่อสร้างอาคาร จะมีรถบรรทุกขนาดใหญ่ขับเข้าออกในพื้นที่ตลอดเวลา ทำให้บ้านเรือนประชาชนเดือดร้อนเสียหาย
โดยในวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพญาไท กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมประชุมชี้แจง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ทั้งกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ด้านระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎกระทรวงต่าง ๆ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความของชมรมอนุรักษ์พญาไท ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ทำคดีป้าทุบรถหมู่บ้านสวนหลวง กล่าวว่าในพื้นที่เขตพญาไทจะพบว่ามีการก่อสร้างอาคารสูงเกินที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 90 โดยที่บริเวณซอยอารีย์ซอย 1 พบว่ามีการก่อสร้างตึกสูงขึ้นมา 6-7 ตึก และเข้าข่ายผิดกฎหมายเหมือนกรณีตึกเอ-ทัช ที่ศาลสั่งให้รื้อในก่อนหน้านี้ ซึ่งตนจะทำเรื่องนี้ให้เป็นบรรทัดฐานเป็นตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในเรื่องการสร้างอาคารสูง โดยการอนุญาตของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่ใช่เพียงเขตพญาไทแต่มีเขตอื่นๆ ที่จะต้องทุบอย่างแน่นอน เช่น พื้นที่เขตสุขุมวิท
“จะเห็นได้ว่าทางเท้า คนตาบอดก็เดินไม่ได้ จึงขอให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องควรใช้กฎหมายที่เข้มงวด หากยังไม่ดำเนินการใดๆ ซึ่งหลังจากวันนี้หากยังมีการอนุมัติโครงการขึ้นมาเพิ่มโดยผิดกฎหมายจะดำเนินการตามกฏหมาย เพื่อให้มีการรื้อถอนอย่างแน่นอน”
ด้านนายรักษเกชา กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลอย่างเข้มงวดในเรื่องการอนุญาต รวมถึงการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าบางโครงการใช้ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกต้อง ขณะที่สำนักงานเขตควร ให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปดูแลรวมทั้งการกำกับดูแลในระหว่างการก่อสร้าง หน่วยงานต่างๆต้องช่วยกันดูแลโดยไม่อ้างความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น
หลังจากนั้นนายรักษเกชา ลงพื้นที่ตรวจสอบลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เขตพญาไท บริเวณซอยพหลโยธิน 11 เพื่อตรวจวัดความกว้างของถนนในซอยดังกล่าว โดยพบว่าความกว้างของถนนบริเวณปากซอย กว้าง 8.97 เมตร จากนั้นเดินเข้าซอย วัดจุดที่สองกว้าง 9.18 เมตร และบริเวณกลางซอยก่อนถึงคอนโดสูงถนนกว้าง 9.60 เมตร ขณะเดียวกันก็พบว่าฟุตบาธ สองฝั่งไม่เท่ากัน และแต่ละฝั่งยังมีขนาดความกว้าง เล็ก แคบ สลับกันไป