xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ สำรวจเส้นทางสายไหมเส้นที่ 2 สกลนคร-กาฬสินธุ์ หวังเชื่อมโยงแหล่งผลิตเป็นที่เที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าประชาสัมพันธ์แคมเปญ “เส้นทางสายไหม สู่เมืองรอง” เส้นทางที่ 2 จังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ เผยที่สกลนครมีวัดสำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่กาฬสินธุ์มีศูนย์ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ สามารถเชื่อมโยงให้คนที่มาท่องเที่ยวในแหล่งผลิตผ้าไหมเดินทางไปเที่ยวต่อได้

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้แคมเปญ “เส้นทางสายไหม สู่เมืองรอง” โดยเน้นสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย แหล่งผลิตผ้าไหมไทย และทำการเชื่อมโยงต่อยอดสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สินค้าและบริการในเมืองรองมากขึ้น ซึ่งรอบนี้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายไหมสู่เมืองรอง เส้นทางที่ 2 โดยได้เดินทางไปจังหวัดสกลนครและกาฬสินธุ์ เพื่อเชื่อมโยงผ้าไหมประจำถิ่นกับการท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ ที่จังหวัดสกลนครพบว่ามีแหล่งผลิตผ้าไหมท้องถิ่นขึ้นชื่อ คือ กลุ่มผ้าไหมย้อมคราม อ.โคกศรีสุพรรณ เป็นแหล่งผลิตที่จะได้ชมทั้งกระบวนการทอผ้า สาวไหม และย้อมคราม ร้านครามสกล อ.เมือง เป็นแหล่งงานคราฟต์ที่สวยงาม ผู้มาเยี่ยมชมสามารถเรียนรู้และทดลองทำผ้ามัดย้อมได้ด้วยตนเอง รวมถึงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแท้ๆ เป็นของฝากกลับบ้าน และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ปูชนียสถานและศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวสกลนคร และวัดถ้ำผาแด่น วัดเก่าแก่ที่ตั้งเด่นตระหง่านบนแนวเทือกเขาภูพาน โดยสามารถชมได้ทั้งทิวทัศน์ธรรมชาติแบบอันซีนของจังหวัด พร้อมความงดงามของงานแกะสลักบนหน้าผาหินอันวิจิตรศิลป์

ส่วนที่จังหวัดกาฬสินธุ์ มีแหล่งผลิตผ้าไหม 2 แห่ง ที่ อ.คำม่วง คือ กลุ่มทอผ้าบ้านหนองยางคำ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งผลิตผ้าไหมพื้นบ้านที่สวยงาม มีกระบวนการทอผ้าและย้อมสี โดยขั้นตอนการทอและย้อมจะนำเส้นไหมแช่น้ำให้อิ่มตัว นำลงไปในน้ำครั่งที่ได้จากแซงมะพร้าว แล้วนำกลับมาล้างให้สะอาด หลังจากนั้นนำมาย้อมด้วยสีธรรมชาติที่เตรียมไว้ เช่น สีแดงอมชมพูจากแก่นฝาง สีเหลืองจากดอกคูน เป็นต้น รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมราคาย่อมเยาจำหน่ายด้วย และกลุ่มอาชีพสตรีผ้าไหมมัดหมี่บ้านสูงเนินเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่ที่มีชื่อเสียง (ผ้าไหมมัดหมี่ภูไท) โดยมีการสาธิตการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมผ้า รวมถึงขั้นตอนการมัดหมี่ และแต้มสี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวกาฬสินธุ์เป็นอย่างมาก โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ คือ พิพิธภัณฑ์สิรินธร หรือศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ่มข้าว ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวไดโนเสาร์แบบครบวงจรและสมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย

“ได้นำสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ลงพื้นที่ไปดูแหล่งผลิตผ้าไหมในแต่ละชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยถ่ายทอดความประทับใจที่ได้พบเห็น และเป็นการกระตุ้นให้คนเห็นถึงคุณค่าของผ้าไหม กระตุ้นให้อยากมาเที่ยวชมถึงแหล่งผลิต กระตุ้นการซื้อผ้าไหม ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากขยายตัว และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด เพราะมาแล้วจะได้ดูทั้งแหล่งผลิต และท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ไปพร้อมกัน” นางลลิดากล่าว

ก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ลงพื้นที่เส้นทางที่ 1 นครราชสีมา (อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ สุรินทร์ ไปแล้ว และปัจจุบันลงพื้นที่เส้นทางที่ 2 คือ สกลนคร และกาฬสินธุ์ ส่วนเส้นทางที่ 3 อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย เส้นทางที่ 4 พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี เส้นทางที่ 5 สุพรรณบุรี ชัยนาท และเส้นทางที่ 6 น่าน อุตรดิตถ์ แพร่ กำลังจะลงพื้นที่ในระยะต่อไป โดยทุกจังหวัดที่เป็นเส้นทางสายไหมมีเมืองรองที่มีผ้าไหมเฉพาะถิ่นที่มีความสวยงาม ตลอดจนมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น