xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้า “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” เชื่อมแหล่งผลิตผ้าไหม รับการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าจัดกิจกรรม “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” เชื่อมโยงแหล่งผลิตผ้าไหม สอดรับการท่องเที่ยว หวังนักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งผลิต เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนได้มากขึ้น มั่นใจสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินกิจกรรมสร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง ภายใต้โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว ภายใต้แคมเปญ “เส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง” โดยจะเข้าไปช่วยสร้างการรับรู้ ช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย และเชื่อมโยงต่อยอดให้แหล่งผลิตผ้าไหมเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไหม สินค้า และบริการในเมืองรองมากขึ้น และยังจะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีความเข้มแข็ง มั่นคง

ทั้งนี้ ตามเป้าหมาย กรมฯ มีกำหนดการช่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง 3 ภูมิภาค 6 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 นครราชสีมา (อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ สุรินทร์ เส้นทางที่ 2 สกลนคร กาฬสินธุ์ เส้นทางที่ 3 อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย เส้นทางที่ 4 พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี เส้นทางที่ 5 สุพรรณบุรี ชัยนาท และเส้นทางที่ 6 น่าน อุตรดิตถ์ แพร่ ซึ่งทุกจังหวัดมีเมืองรองที่มีผ้าไหมเฉพาะถิ่นที่ มีความสวยงาม ตลอดจนมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้แผนการขับเคลื่อนเส้นทางผ้าไหมสู่เมืองรอง กรมฯ จะเชิญสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ด้านการท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ เข้าร่วมเดินทาง เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้แก่สาธารณชนในวงกว้าง รวมทั้งปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนรุ่นใหม่ให้หันมาตระหนักและใช้สอยผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้เป็นของฝาก ของกำนัล ที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้รับ

สำหรับเส้นทางการเดินทางแรก คือ จ.นครราชสีมา (อ.ปักธงชัย) บุรีรัมย์ สุรินทร์ ได้เริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.-2 พ.ย.2562 โดยที่ จ. นครราชสีมา อ.ปักธงชัย เดินทางไปที่กลุ่มหัตถกรรมบ้านดู่ ซึ่งมีผ้าไหมหางกระรอกที่สวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น และกำลังจะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ทั้งนี้ที่ จ.บุรีรัมย์ มีผ้าไหมท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง เช่น ผ้าภูอัคนี (ผ้าย้อมดินภูเขาไฟ) อ.เฉลิมพระเกียรติ ผ้าไหมมัดหมี่ทอมือ กลุ่มผ้าไหมโนนกลาง อ.ดอนมนต์ ผ้าไหมมัดหมี่ลายลูกแก้ว กลุ่มทอผ้าไหมบ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอแปรรูปผ้าไหม - ผ้าฝ้าย อ.พุทไธสง ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านหนองโก อ.นาโพธิ์ ผ้าซิ่นตีนแดง ณัฏฐาผ้าไหม อ.นาโพธิ์ ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอผ้าไหมบ้านดอนกอก อ.นาโพธิ์ และมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ คือ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งแล้ว

นอกจากนี้ที่ จ.สุรินทร์ มีผ้าไหมพื้นเมืองที่มีความสวยงาม และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว เช่น อ.ลำดวน ประกอบด้วย ดาวไหมไทย (ผ้าไหมมัดหมี่) กลุ่มทอผ้าไหมบ้านระไซร์ ผ้ามัดหมี่ กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านยางจรม ผ้าไหมทอมือสีธรรมชาติ กลุ่มทอผ้าไหมและผลิตภัณฑ์เป่าแก้วบ้านหนองยาง ผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านสวาย และยังมีผ้าไหมบ้านอากลัว กลุ่มสตรีทอผไหมบ้านอากลัว อ.เขวาสินรินทร์ ผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ ศูนย์เรียนรู้สวยสมใจผ้าไหมอาบโคลนดอกบัว อ.ศีขรภูมิ เป็นต้น


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น