xs
xsm
sm
md
lg

เซลล์แมน”จุรินทร์”ปิดจ๊อบขายที่ตุรกี ทำเงินเข้าประเทศ 15,512 ล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หัวหน้าเซลล์แมน “จุรินทร์”นำคณะลุยตุรกี ขายยางพารา ข้าว มันสำปะหลังและอาหาร ประสบความสำเร็จขายได้ทันทีกว่า 15,512 ล้านบาท เฉพาะหมอนยางพารา สุดฮอตขายได้รวดเดียว 20 ล้านใบ ส่งมอบธ.ค.นี้เป็นต้นไป ระบุเตรียมเร่งเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี ตั้งเป้าจบกลางปีหน้า ช่วยเปิดตลาดสินค้าไทยเจาะเข้าตุรกีเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2562 ได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนกลุ่มสินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ ข้าว มันสำปะหลัง และสินค้าอาหาร เดินทางไปขยายตลาดส่งออกที่ประเทศตุรกี โดยได้มีการลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) เพื่อซื้อขายสินค้ารวม 11 คู่ มีมูลค่า 15,512 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกให้กับประเทศได้ทันที

สำหรับการลงนาม MOU มีดังนี้ สินค้ายางพารา 6 หมื่นตัน มูลค่า 2,720 ล้านบาท ได้แก่ บริษัทไทยฮั้ว จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท KOLSAN TYPE , บริษัท ไทยฮั้ว จำกัด(มหาชน) กับ บริษัท Sayeste Kaucak , การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กับ Turkish Rubber Association การยางแห่งประเทศไทย กับ REP Kaucak สินค้าข้าว 6 พันตัน มูลค่า 85 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท โตมี อินเตอร์เทรด จำกัด กับ บริษัท Dervisoglu , บริษัท เอส อินเตอร์ ไรซ์ จำกัด กับบริษัท Harbiyeli , สินค้ามันสำปะหลัง ปริมาณ 1.5 แสนตัน มูลค่า 690 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท SB Premier Product จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific ,บริษัท Chaiyong Agricultural Silo จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific , บริษัท Thong Tapioca (1999)จำกัด กับ บริษัท Argo Pacific และสินค้าซอสปรุงรส 10 ล้านบาท ได้แก่ บริษัท สุรีย์ อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด กับ บริษัท Dolfin Gida

ทั้งนี้ ในระหว่างการเจรจาธุรกิจ สามารถตกลงซื้อขายหมอนยางพาราได้เพิ่มเติมอีก 20 ล้านใบ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ระหว่างบริษัท JSY LATEX จากนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง และ กยท. กับบริษัท REPKAUCUK จากตุรกี โดยใช้น้ำยางไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นตัน ซึ่งจะเริ่มต้นส่งมอบตั้งแต่เดือนธ.ค.2562 เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนเจรจาเปิดตลาดตุรกีให้กับผู้ส่งออกไทย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ตุรกี ตั้งเป้าเจรจาแล้วเสร็จกลางปี 2563 ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยที่อัตราภาษีนำเข้าจะลดลง ทำให้ไทยส่งออกไปยังตุรกีได้เพิ่มขึ้น และยังสามารถใช้ตุรกีเป็นประตูในการส่งออกไปยังยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลางได้ด้วย ขณะที่ตุรกีสามารถใช้ไทยขยายตลาดเข้าสู่จีน อินเดีย และอาเซียนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น