“สมคิด” อ้อนประธานซีซีพีไอที ชวนนักท่องเที่ยวจีนจากมณฑลกวางตุ้งมาไทยให้ได้ 10 ล้านคน โดยพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะการเพิ่มเที่ยวบินให้ถี่เพื่อรองรับ พร้อมดึงนักลงทุนจีนลงทุนในไทยเพิ่ม ด้าน ส.อ.ท.เผย 20 บริษัทจากจีนที่เดินมาครั้งนี้เตรียมลงพื้นที่อีอีซีศึกษาดูลู่ทาง 15 พ.ย.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู) ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง (ซีซีพีไอที) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ว่าได้เจรจาขอให้นายฟาง ลี่ ซวี่ ประธานซีซีพีไอที ชักชวนนักท่องเที่ยวจีนจากมณฑลกวางตุ้งเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้ได้ถึง 10 ล้านคนในปี 2562 นี้ ไทยพร้อมจะอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รองรับ อาทิ เตรียมที่จะหารือกับสายการบินเอกชนไทยให้เพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้ถี่ขึ้นในการรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้น
นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งมีศักยภาพทางนวัตกรรม มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีเขตเศรษฐกิจพิเศษถึง 3 แห่ง คือ เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ และเมืองซัวเถา มีบทบาทอย่างมากในกรอบความร่วมมือเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจปากแม่น้ำจูเจียง (PRD) และยังเป็นศูนย์กลางของ งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ Canton Fair อีกด้วยซึ่งพบว่ามีนักลงทุนที่มีศักยภาพทั้งอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนยังไทยจึงจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดึงลงทุน
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นมาจากผมได้เดินทางไปชักจูงการลงทุนประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจีนมีความสนใจใน 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และพม่า โดยพบว่าสนใจไทยมากที่สุด ดังนั้นเราจึงต้องทำตัวให้พร้อมรับการลงทุนครั้งนี้” นายสมคิดกล่าว
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนไทนของคณะซีซีพีไอทีครั้งนี้ได้มีผู้ประกอบการรายใหญ่เดินทางมาศึกษาลู่ทางการลงทุนกว่า 20 ราย รวมทั้งจะลงไปดูพื้นที่จริงในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะเห็นตัวเลขการลงทุนจากมณฑลกวางตุ้งเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมจิวเวลรีอิเล็กทรอนิกส์ และแปรรูปเกษตร ซึ่งมีบางรายได้เข้ามาลงทุนแล้วและยังมีอีกจำนวนมากที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่ม โดย ส.อ.ท.จะจัดหาบริษัทที่เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.เข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทจีนเหล่านี้ด้วย
“การลงนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่ออนาคต รวมถึงความร่วมมือด้านงานวิจัย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว ครอบคลุมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนของทั้งสองฝ่าย” นายสุพันธุ์กล่าว