“พาณิชย์” เผยจีนขึ้นภาษีอาหารทะเลตอบโต้สหรัฐฯ 25% ส่งผลดีไทยมีโอกาสส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังจีนได้เพิ่มขึ้น เผยกุ้ง ปู ปลาหมึก และปลาแช่แข็งบางชนิดมีโอกาสสูง ระบุยังมีโอกาสนำสินค้าสหรัฐฯ ที่ถูกขึ้นภาษีมาใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปเพื่อส่งออกได้ด้วย เตรียมจับตาสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้จีน อาจทำให้สินค้าจีนทะลักมาไทยเพิ่ม
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สำหรับกลุ่มสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งสินค้าอาหารทะเลปรุงแต่ง ที่จีนขึ้นภาษีกับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 25% จำนวน 222 รายการ ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2561 ว่า การที่จีนขึ้นภาษีจะทำให้สินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าอาหารทะเลจากไทยแข่งขันในตลาดจีนได้มากขึ้น และมีโอกาสในการส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มมากขึ้น
สินค้ากลุ่มแรกที่มีศักยภาพ เพราะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปตลาดโลกและจีนได้ดีอยู่แล้ว ได้แก่ กลุ่มสินค้าจำพวกกุ้งและปู ทั้งแบบมีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง แห้ง ใส่เกลือ หรือรมควัน โดยในปี 2560 จีนนำเข้าสินค้าจำพวกกุ้งและปูจากทั้งโลกมากกว่า 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากสหรัฐฯ และไทยเป็นมูลค่า 290 และ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปตลาดโลกเป็นมูลค่าสูงถึง 1,160 เหรียญสหรัฐ ผู้ส่งออกไทยจึงมีโอกาสทำตลาดในจีนได้อีก
กลุ่มถัดมา เป็นกลุ่มที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน แต่เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกได้มากขึ้น ได้แก่ ปลาหมึกแช่แข็ง โดยปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าปลาหมึกแช่แข็งจากโลกเป็นมูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่นำเข้าจากไทยเพียง 2 แสนเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ไทยมีศักยภาพสามารถส่งออกปลาหมึกแช่แข็งไปโลกได้ถึงปีละ 290 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าเนื้อปลาแช่แข็ง จีนนำเข้าเนื้อปลาแช่แข็งจากโลกเป็นมูลค่า 230 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากสหรัฐฯ และไทย มูลค่า 43 และ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ในขณะที่ไทยสามารถส่งออกเนื้อปลาแช่แข็งไปโลกได้ถึงปีละ 250 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นว่าไทยมีศักยภาพที่จะส่งออกปลาหมึกแช่แข็งและเนื้อปลาแช่แข็งไปจีนมากขึ้น และตลาดจีนยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับสินค้าจากไทย
นอกจากนี้ ยังพบว่าสินค้ากลุ่มปลาแช่แข็งเป็นสินค้าที่ไทยขาดดุลการค้าในภาพรวม และขาดดุลการค้ากับจีน โดยในแต่ละปีมีการนำเข้าสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่นำเข้ามาก เช่น ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาสคิปแจ็ก และปลาแซลมอน มีแหล่งนำเข้าสำคัญ คือ ไต้หวัน สหรัฐฯ และจีน โดยนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าประมาณ 160 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ สนค.เห็นว่ามีสินค้าปลาแช่แข็งบางรายการที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นได้ เช่น สินค้ากลุ่มปลาแช่แข็งอื่นๆ ที่ประกอบด้วย ปลาโซล ปลาไหล ปลาตะเพียน ปลาจะละเม็ดดำ และปลากะพงแดง เป็นต้น
สำหรับสินค้าอาหารทะเลที่สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนมาก และเมื่อจีนขึ้นภาษีอาจทำให้สินค้าจากสหรัฐฯ ส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้น เช่น ปลาแช่แข็ง เช่น ปลาแซลมอนแปซิฟิก ปลาเรดแซลมอน ปลาค็อด ปลาอะแลสกาพอลลัค เป็นต้น ปลาหมึกแช่แข็ง และลอบสเตอร์ ซึ่ง สนค.เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการแปรรูปเพื่อส่งออก จึงน่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมไทยในการนำเข้าวัตถุดิบจากสหรัฐฯ มาแปรรูปเพื่อส่งออก และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่ก็ต้องดูแลเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำในประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 สหรัฐฯ ประกาศขู่จะขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มเติม 6031 รายการ ในอัตรา 10% ซึ่งมีรายการสินค้าอาหารทะเลรวมอยู่ 367 รายการ ทั้งสินค้าปลามีชีวิต ปลาแช่เย็น ปลาแช่แข็ง เนื้อปลา กุ้ง ปู หอย และปลาหมึก และสหรัฐฯ อาจพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีเป็น 25% โดยมีกำหนดประชาพิจารณ์วันที่ 20-23 ส.ค. 2561 นี้ โดย สนค.เห็นว่าหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าอาหารทะเลจากจีนก็อาจส่งผลให้อาหารทะเลจากจีนที่เคยส่งออกไปสหรัฐฯ ไหลเข้าไทยมากขึ้น เช่น เนื้อปลาฟิลเลแช่แข็งต่างๆ เช่น ปลาค็อด ปลาแซลมอนแปซิฟิก ปลาทิละเพียส หอยเชลล์ หอยควีนสแกลลอปแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งจะมีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที