“บอร์ดบีโอไอ” รับทราบภาวะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนครึ่งปีแรก 754 โครงการเพิ่ม 22% มูลค่าทะลุ 2.84 แสนล้านบาท “อีอีซี” หนุน พร้อมไฟเขียว 4 โครงการกว่า 2.9 หมื่นล้าน ทั้งยักษ์ใหญ่ผลิตอาหารสัตว์ นิสสัน-ฮอนด้า ลงทุนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์เช่าเครื่องบินเพิ่ม 6 ลำ ขยายเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าบีโอไอได้รายงานบอร์ดบีโอไอถึงภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 (มกราคม-มิถุนายน 2561) ซึ่งมีการขอรับส่งเสริมการลงทุน 754 โครงการ เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันของปี 2560 และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ทั้งนี้ พบว่าการขอรับส่งเสริมทั้งหมด เป็นโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวน 316 โครงการ คิดเป็น 46% ของจำนวนโครงการทั้งหมด มูลค่าเงินลงทุนรวม 224,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของมูลค่าเงินลงทุนโดยรวม
สำหรับการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 142 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 122 ซึ่งบีโอไอมั่นใจว่าโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายรายจะยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปี 2561
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 29,631 ล้านบาท ช่วยผลักดันการใช้วัตถุดิบในประเทศรวมมูลค่ากว่า 19,480.8 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย 1. บริษัท มาร์ส เพ็ทแคร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,600 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี โรงงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในฐานการผลิตของบริษัทที่มีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลกมากกว่า 80 แห่ง โดยการลงทุนครั้งนี้บริษัทได้มีการลงทุนที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผู้ผลิตวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนภายในประเทศไทย รวมถึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีการใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่า 794 ล้านบาท
2. บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,960 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะใช้วัตถุดิบในประเทศมูลค่ากว่า 15,920 ล้านบาทต่อปี เป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมรุ่น e-Power ซึ่งเดิมมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียวที่ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นเทคโนโลยีหลักในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์จากระบบเครื่องยนต์ในปัจจุบันไปสู่ระบบไฟฟ้า
3. บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,821 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา และจ.ปราจีนบุรี โดยบริษัทฯ มีแผนใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ กันชนหน้า/หลัง ชุดสายไฟ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,766.8 ล้านบาท รวมทั้งยังมีแผนในการผลิตชิ้นส่วนอื่นภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าในอนาคตอีกด้วย
4. บริษัท ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ขยายกิจการขนส่งทางอากาศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,250 ล้านบาท โดยจะเช่าเครื่องบินแบบ Airbus A330 รวมจำนวน 6 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 377 ที่นั่ง เพื่อให้บริการครอบคลุมทั้งการขนส่งผู้โดยสาร ทั้งแบบประจำเส้นทางและแบบเช่าเหมาลำ ทั้งนี้บริษัทฯ จะขยายเส้นทางใหม่ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย นับว่ามีส่วนช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย
น.ส.ดวงใจกล่าวเพิ่มเติมถึงการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ว่าก่อนหน้านี้บีโอไอได้พิจารณาให้การส่งเสริมไปแล้วหลายราย ได้แก่ โครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดของโตโยต้า โครงการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดของเมอร์เซเดสเบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท รวมทั้งกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และ High Density Battery จำนวน 6 ราย เงินลงทุนรวม 5,400 ล้านบาท