“พาณิชย์” ลุยต่อ เตรียมส่งหนังสือถึงสหรัฐฯ ขอให้ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากไทยเป็นรายประเทศอีกรอบ หลังรอบแรกสหรัฐฯ ยังมีความกังวลเรื่องการส่งออกและการสวมสิทธิ์ เผยได้หารือรัฐและเอกชนก่อนส่งแผนไปให้พิจารณา ยันมีมาตรการดูแลเข้มเรื่องที่สหรัฐฯ กังวล
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้เข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ถึงประเด็นที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ 232 กฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก รวมถึงไทย โดยได้สอบถามสหรัฐฯ ถึงหนังสือที่ไทยขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการเก็บภาษีไทยเป็นรายประเทศว่ามีการพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งสหรัฐฯ ตอบว่าได้พิจารณาสิ่งที่ไทยเสนอมาแล้ว แต่ยังมีข้อกังวลในประเด็นการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและกังวลในเรื่องการสวมสิทธิ์ จึงขอให้ไทยทำความชัดเจนในเรื่องนี้อีกครั้ง
“สหรัฐฯ ได้ดูสิ่งที่ไทยเสนอไปแล้ว แต่เห็นว่ายังไม่เป็นเหตุผลที่จะยกเว้นให้ไทยเป็นรายประเทศได้ จึงขอให้ทบทวนข้อเสนอใหม่ โดยสหรัฐฯ อยากให้ไทยดูแลเรื่องการส่งออกและเรื่องการนำเหล็กจากที่อื่นมาสวมสิทธิ์ ซึ่งได้ยืนยันไปว่าไทยมีมาตรการดูแลการสวมสิทธิ์ มีการวางระบบร่วมกับกรมศุลกากร และยังได้ทำงานกับกรมศุลกากรสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และล่าสุดได้มีการหารือกับภาครัฐและเอกชนไปแล้ว จะมีการจัดทำหนังสือถึงสหรัฐฯ เพื่อขอให้ยกเว้นการเก็บภาษีไทยเป็นรายประเทศอีกครั้ง” น.ส.ชุติมากล่าว
น.ส.ชุติมากล่าวว่า สำหรับการเปิดไต่สวนเพื่อขึ้นภาษีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน ไทยได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งสองประเทศ เนื่องจากสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นห่วงโซ่หรือองค์ประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของสหรัฐฯ โดยไทยพร้อมหารือและร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกันต่อไป ซึ่งสหรัฐฯ รับที่จะนำข้อห่วงกังวลของไทยไปพิจารณา และเห็นพ้องว่าทั้งสองฝ่ายควรจะหารือต่อเนื่องเพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป
ส่วนประเด็นที่สมาพันธ์สหภาพแรงงานสหรัฐฯ และสมาคมผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ ได้ยื่นขอให้สหรัฐฯ ทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย และระบุว่าไทยมีการกีดกันเนื้อสุกรของสหรัฐฯ ได้ชี้แจงว่าไทยกำลังปรับปรุง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และร่าง พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เพื่อให้ครอบคลุมสถานการณ์ด้านแรงงาน และสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2561 จึงขอให้สหรัฐฯ คง GSP ไทยต่อไป ส่วนประเด็นการนำเข้าเนื้อสุกร ได้ยืนยันการปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องนี้