“ชุติมา” บินถกสหรัฐฯ ขอยกเว้นเก็บภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมจากไทยเป็นรายประเทศ ยันสินค้าไทยไม่กระทบความมั่นคง มีแต่หนุนอุตสาหกรรมภายใน ย้ำมีมาตรการคุมเข้มเหล็กสวมสิทธิ์ เผยในอาเซียนมีการหารือเพื่อป้องกันในเรื่องนี้ด้วย
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันที่ 24-27 ก.ค. 2561 จะเดินทางไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา โดยมีกำหนดจะพบกับรองผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์), รมช.พาณิชย์สหรัฐฯ และที่ปรึกษาอาวุโสของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อมุ่งเจรจาลดอุปสรรคและมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการ 232 กฎหมายการค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก รวมถึงไทย และอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นภาษียานยนต์และชิ้นส่วนนำเข้าจากทั่วโลก ภายใต้มาตรา 232 โดยไทยจะชี้แจงให้สหรัฐฯ เห็นว่าการนำเข้าสินค้าจากไทยไม่กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่จะเกื้อกูลอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐฯ เพราะสินค้าไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ น้อย
ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ กังวลเรื่องการสวมสิทธิ์เหล็กไทยเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ จะชี้แจงว่าไทยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน รวมถึงอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD/CVD) โดยเพิ่มมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD หรือ Anti Circumvention เพื่อแก้ปัญหาการสวมสิทธิ์โดยเฉพาะ
สำหรับกรณีที่สหรัฐฯ กังวลนั้นจะชี้แจงถึงความคืบหน้าการศึกษาถึงผลดีและผลเสียที่มีต่อผู้บริโภคจากการบริโภคหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง เพราะสหรัฐฯ อ้างว่าไทยเปิดตลาดนำเข้าหมูจากยุโรป แต่ไม่เปิดให้สหรัฐฯ โดยยืนยันว่าหมูจากยุโรปไม่ได้ใช้สารเร่งเนื้อแดง ถ้าฟาร์มหมูใดของสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้สารเร่งเนื้อแดงก็พร้อมให้นำเข้า ส่วนฟาร์มใดที่ใช้สารเนื้อแดงต้องรอผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก่อน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2561 เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ได้พบหารือกับจีน ที่สิงคโปร์ และได้หารือกันในเรื่องนี้ โดยอาเซียนได้ย้ำข้อเสนอของสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าแห่งอาเซียน ที่ขอให้จีนช่วยดูแลไม่ให้เกิดการทะลักของเหล็กและผลิตภัณฑ์จากจีนสู่อาเซียน โดยขอให้รัฐบาลจีนคงมาตรการยกเลิกการคืนภาษีส่งออกให้กับผู้ส่งออกเหล็ก พร้อมทั้งเชิญชวนจีนเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอาเซียน เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้แก่ผู้ผลิตในอาเซียน รวมถึงส่งเสริมให้ใช้เหล็กและผลิตภัณฑ์ของสมาชิกอาเซียนในการดำเนินโครงการต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (B&R) ของจีนในอาเซียนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่สหรัฐฯ ไม่ยกเว้นเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมที่เรียกเก็บในอัตรา 25% และ 10% ให้กับไทยเป็นรายประเทศ เพราะสหรัฐฯ กังวลว่าผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อย่างจีนจะส่งออกเหล็กมาไทยแล้วอ้างว่าเป็นเหล็กที่ผลิตในไทยแล้วส่งออกไปสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่สูงขึ้น