xs
xsm
sm
md
lg

น้ำมันแพงดันเงินเฟ้อ ก.ค.เพิ่มขึ้น 1.46% โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อ ก.ค.เพิ่ม 1.46% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 มีสาเหตุหลักจากน้ำมันแพงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 ส่วนหมวดอาหารมีทั้งขึ้นและลง ขณะที่ 7 เดือนโต 1.04% มั่นใจทั้งปีอยู่ในกรอบ 0.8-1.6% มีค่ากลางอยู่ที่ 1.2%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ค. 2561 เท่ากับ 102.00 สูงขึ้น 1.46% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกัน แต่ลดลง 0.05% เทียบกับเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินเฟ้อช่วง 7 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ก.ค.) สูงขึ้น 1.04%

สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้นมาจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่ม 2.29% สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 13.85% สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่ม 5.86% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เพิ่ม 1.12% ค่าโดยสารสาธารณะเพิ่ม 0.70% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 0.02% สินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประกอบอาหารเพิ่ม 1.74% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่ม 1.48% อาหารบริโภคในบ้านเพิ่ม 1.10% นอกบ้านเพิ่ม 1.23% และข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งเพิ่ม 3.65% แต่ผักสดลด 5.33% ผลไม้สดลด 2.35% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ลด 1.89%

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สนค.คาดว่าเงินเฟ้อไตรมาส 3 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.35% และไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 1.5% ทำให้ทั้งปีขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.2% อยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ที่ 0.8-1.6% ภายใต้สมมติฐานคือ อัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยเติบโต 4.2-4.7% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในกรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินเฟ้อจะเป็นช่วงขาขึ้น มีปัจจัยจากกำลังซื้อของประชาชนและภาคเกษตรดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ทั้งข้าว มัน ข้าวโพด และบาทอ่อนทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น รวมทั้งยังมีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ทำให้เพิ่มกำลังซื้อเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องจับตาราคาน้ำมัน หากเพิ่มขึ้นมากก็จะเร่งเงินเฟ้อมากขึ้น

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) ที่หักรายการสินค้าอาหารสดและพลังงานออกไปเดือน ก.ค. 2561 เท่ากับ 102.10 สูงขึ้น 0.79% และสูงขึ้น 0.04% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2561 ส่วนยอดเฉลี่ย 7 เดือนสูงขึ้น 0.70%


กำลังโหลดความคิดเห็น