“พาณิชย์” เผยการประชุม RCEP รอบกรุงเทพฯ สรุปผลการเจรจาได้ 2 เรื่อง “พิธีการศุลกากรและการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ” ส่วนเรื่องกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ดันหารือต่อในการประชุมครั้งหน้าเดือน ต.ค. เผย การเจรจาปีนี้ สามารถสรุปได้หลายเรื่อง ตั้งเป้าปีหน้าปิดการเจรจาได้ทั้งหมด และลงนามบังคับใช้ต่อไป
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการเจรจาฯ RCEP ครั้งที่ 23 ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 17-27 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ มีความคืบหน้ามาก โดยสามารถสรุปการเจรจาได้ 2 เรื่อง คือ พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
โดยในส่วนของพิธีการศุลกากร มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งหลักการทั่วไป เช่น การตรวจสอบก่อนและหลังการนำเข้า การวินิจฉัยล่วงหน้า การนำเข้าและส่งออกสินค้าเร่งด่วน ความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร การอุทธรณ์และทบทวน รวมถึงแนวปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นใจว่า กฎหมายและกฎระเบียบด้านศุลกากรของประเทศสมาชิกมีความชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งจะทำให้มีการตรวจปล่อยสินค้าที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และมีขั้นตอนการนำเข้าและส่งออกที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงให้สมาชิกคำนึงถึงความปลอดภัยของกระบวนการส่งสินค้าที่มีมาตรฐานมากขึ้น
ส่วนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ได้ข้อสรุปว่าจะมุ่งเน้นเฉพาะความร่วมมือด้านความโปร่งใสของกฎระเบียบและความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือทางเทคนิค
สำหรับการเจรจาเรื่องกฎระเบียบทางเทคนิค และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่ตั้งเป้าหมายจะสรุปผลการเจรจาให้ได้ในการประชุมครั้งนี้ ก็มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังมีบางประเด็นที่สมาชิกยังต้องหารือเพิ่มเติม และคาดว่าจะสามารถสรุปผลการเจรจาได้ในการประชุมครั้งที่ 24 ที่นิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพในเดือน ต.ค.นี้
“ในการประชุมครั้งนี้ หัวหน้าคณะเจรจาของทั้ง 16 ประเทศ ได้จัดทำเอกสารสรุปเป้าหมายของการเจรจาสำหรับปีนี้ในแต่ละเรื่อง โดยไทยคาดหวังว่าเรื่องที่จะสามารถสรุปผลการเจรจาไดในปีนี้ ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กฎระเบียบทางเทคนิค มาตรการสุขอนามัย การแข่งขันทางการค้า การระงับข้อพิพาท กลไกการจัดตั้งสถาบัน รวมทั้งยื่นข้อเสนอการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุนฉบับสุดท้าย เท่ากับว่า สมาชิกจะสามารถสรุปการเจรจาในทุกเรื่องได้เป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ และจะหารือบางเรื่องที่ต้องเจรจาต่อเนื่องไปถึงปีหน้า คาดว่า จะสามารถสรุปทุกเรื่องได้ในปี 2562 และคาดหวังจะประกาศความสำเร็จของการเจรจา และลงนามความตกลงได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป” นายรณรงค์กล่าว
นอกจากนี้ การประชุมรอบกรุงเทพฯ ยังได้เปิดเวทีหารือระหว่างหัวหน้าคณะเจรจากับผู้แทนจากสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก และภาคประชาสังคม รวมกว่า 40 องค์กร โดยภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีที่จะสามารถนำมาซึ่งประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง และภาคประชาสังคมต้องการให้การเจรจามีความโปร่งใส และขอให้ภาครัฐรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของไทย ได้ย้ำจุดยืนของการเจรจาที่คำนึงถึงผลประโยชน์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศบนพื้นฐานของความเป็นธรรม และโปร่งใส รวมถึงจะเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันการเจรจาให้บรรลุผลสำเร็จ