xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” เผย กรอ.ดันตั้งคณะทำงาน 4 กระทรวงศึกษาคลัสเตอร์เกษตรต้นแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อุตตม” เผย กรอ.ให้ตั้งคณะทำงานร่วม 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อศึกษาคลัสเตอร์เกษตรอุตสาหกรรมต้นแบบพื้นที่อีสานใต้ เน้นใช้มันสำปะหลังอินทรีย์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ (จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) ได้เห็นด้วยในหลักการศูนย์กลางนวัตกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป (Innovative Food-Processing Hub) ในพื้นที่อีสานใต้ ที่อุทยานวิทยาศาสาตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมกับกลุ่มจังหวัดในพื้นที่อีสานใต้ และหน่วยงานภาคี ภาครัฐ องค์กรเอกชน สถาบันการเงิน ผลักดันให้เกิดโรงงานต้นแบบแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร (Pilot Plant) ที่สามารถแปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม/นํ้าผลไม้ และเครื่องสำอาง

สำหรับโรงงานต้นแบบนี้จะให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ การให้บริการเพื่อผลิตสินค้าต้นแบบในการทดสอบตลาด โดยทางกระทรวงอุตสาหกรรมจะเชื่อมโยงโรงงานต้นแบบแห่งนี้เข้ากับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ในภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และสมุนไพรแปรรูป ที่คาดว่าโครงการความร่วมมือนี้จะสามารถสร้างเอสเอ็มอีรายใหม่ได้ไม่น้อยกว่า 300 ราย ยกระดับเอสเอ็มอีรายเก่าได้มากกว่า 1,000 ราย และเกิดมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม กรอ.ให้เร่งศึกษาเกษตรอุตสาหกรรมโดยเร็วที่สุด และกำหนดเป้าหมายการผลิตตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก จึงได้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 4 กระทรวง คือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะประชุมร่วมกันครั้งแรกภายในเดือนนี้ เพื่อบูรณาการยกระดับกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ให้เป็นกลุ่มธุรกิจ หรือคลัสเตอร์ต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์ โดยให้ศึกษาด้านการสนับสนุนการขยายตลาดสำหรับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ การรับรองมาตรฐานเพื่อการส่งออก การนำนวัตกรรมมาพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูป และหาแหล่งเงินทุนสำหรับการรวบรวมผลผลิตในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นายอุตตมกล่าวว่า จากการหารือกับเอกชนในพื้นที่อีสานใต้ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ให้ผลักดันพื้นที่อีสานใต้เป็นพื้นที่นำร่องแห่งที่ 4 ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 ในการพัฒนาเป็นไบโอฮับ (Bio Hub) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ เน้นการเชื่อมโยงภาคเกษตรอินทรีย์สู่ภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ พื้นที่อีสานใต้มีความพร้อมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio economy) ที่มีแหล่งวัตถุดิบ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา รวมกว่าปีละ 4 ล้านตัน และผู้ประกอบการมีศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิก (Organic Food Ingredient) ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น สารให้ความหวานอินทรีย์ แป้งดัดแปลงอินทรีย์ (Organic Modified Starch) และอาหารที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น ผังเมือง การนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลน รวมถึงการนำระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพัฒนาให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานใต้ให้เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้เตรียมโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดพื้นที่ประมาณ 2,303 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้โครงการฯ ตามข้อเสนอเบื้องต้นของ บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตรี้ จำกัด และกลุ่มสินรุ่งเรือง ที่ต้องการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 2,700 ล้านบาท และจะเกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น