xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนชง ก.อุตฯ หนุนตั้งนิคมฯ อุบลพื้นที่ 2.3 พันไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนในพื้นที่อีสานใต้เสนอ “สมชาย หาญหิรัญ” ดัน 6 ข้อเร่งพัฒนาระหว่างลงพื้นที่ ครม.สัญจร ทั้งหนุนรัฐสนับสนุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี พื้นที่ 2.3 พันไร่ ลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โครงการ E-San Start Up ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรแปรรูปภาคบริการ 4.0

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 หรืออีสานใต้ ประกอบด้วย อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 จังหวัดอุบลราชธานี ว่า เอกชนในพื้นที่ดังกล่าวได้เสนอการขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรม 6 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ 1. การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ในพื้นที่ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ประมาณ 2,303 ไร่ มูลค่าการพัฒนาโครงการฯ ประมาณ 2,700 ล้านบาท

“อุบลราชธานีมีโครงการรถไฟทางคู่ที่จะก่อสร้างและท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่จะช่วยสนับสนุนการขนส่งที่พร้อมจะเชื่อมโยงการค้า 4 ประเทศ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน คาดว่าจะเกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท และจะสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร เป็นต้น” นายสมชายกล่าว

2. การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.อุบลราชธานี เพื่อสร้างฐานการผลิตเชื่อมโยงกับอาเซียนและพัฒนาเมืองชายแดน 3. โครงการ E-San Start Up เป็นโมเดลสร้างผู้ประกอบการใหม่ของภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ภาคการค้า และภาคบริการ ให้มีแนวคิดเป็นผู้ประกอบการ 4.0 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เริ่มต้นธุรกิจ 0-3 บ่มเพาะธุรกิจผ่านพี่เลี้ยงที่มีธุรกิจชั้นนำคอยช่วยเหลือ เช่น กลุ่ม ปตท. กลุ่มบริษัท SCG บริษัทในเครือสหพัฒน์ บริษัทเดลต้า ธนาคารต่างๆ ฯลฯ ระยะเวลา 4 ปี ภายหลังจากสิ้นสุดโครงการคาดว่าจะเกิดมูลค่ายอดขายธุรกิจไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 เป็นหน่วยบริหารโครงการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

4. โครงการศูนย์กลางนวัตกรรมอาหาร (Pilot Plant) ซึ่งจะทำงานในรูปแบบเครือข่ายร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มีโรงงานต้นแบบแปรรูปสินค้าด้านการเกษตร มีบริการทางด้านการแปรรูปเนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง 5. การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร หรือ BIO HUB ในพื้นที่อีสานใต้ โดยโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในพื้นที่มีความพร้อมในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ประกอบกับพื้นที่อีสานใต้มีการทำเกษตรกรรมประมาณ 1.8 ล้านไร่ และมีผลผลิตจากสินค้าเกษตรรวมกว่า 4 ล้านตัน ภาคเอกชนจึงขอรับการสนับสนุนให้เป็นพื้นที่นำร่องส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร และ 6. การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาด้านหุ่นยนต์ เพื่อนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

นายสมชายกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอทั้ง 6 ข้อที่ภาคเอกชนในพื้นที่อีสานใต้ได้เสนอมาทั้งหมดนั้นจะสรุปและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาขยายผล เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดอีสานใต้
นอกจากนี้ ในช่วงบ่าย นายสมชายยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด ตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงงานที่มีความพร้อมในการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยโรงงงานแห่งนี้มีการทดลองนวัตกรรมที่ได้ร่วมมือกับประเทศฟินแลนด์ ในการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเครื่อง มีกำลังการผลิต 700 ตันแป้งต่อวัน ใช้มันสำปะหลังสดเป็นวัตถุดิบในการผลิต 2,800 ตันต่อวัน จึงถือว่าโรงงานดังกล่าวมีความพร้อมมากที่จะพัฒนาให้เป็นอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร ตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย พ.ศ. 2561-2570

ด้านนายสันติ กีระนันทน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ บริษัท อาร์เอสทีโรโบติกส์ จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ ที่ได้รับสินเชื่อจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการนำเครื่องจักรและระบบอัตโนมัตินี้ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งสามารถขอกู้ได้รายละ 5 แสนบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านมาตรฐานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น