xs
xsm
sm
md
lg

ไพรซ์วอร์ฟาดบุฟเฟต์ชาบูระส่ำ “นีโอ” จ่อฟาสต์ฟูด ตปท.เพิ่มฐาน “เปปเปอร์ลันช์” ส่งโมเดลใหม่สู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - สงครามราคาถล่ม “บุฟเฟต์ชาบู” นับถอยหลัง 5 ปีตายเรียบตามรอย “หมูกระทะ” เหลือแต่รายใหญ่ ด้าน “นีโอ สุกี้” เปิดแผนลุย 5 ปี ทุ่ม 150 ล้านบาท ผุดแบรนด์ใหม่ ขยายสาขา ลงทุนโรงงาน พร้อมโกยรายได้ทะลุ 1,200 ล้านบาท หวังเข้า MAI ต่อยอดธุรกิจในอนาคต ด้าน “เปปเอร์ลันช์” ส่งโมเดลใหม่ขยายฐานลูกค้าและทำเล ดันยอดโต 30%
 
 นายณัฐพล กัปปิยจรรยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอ สุกี้ไทยเรสเทอรองส์ จำกัด ผู้บริหารร้านสุกี้นีโอ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารประเภทชาบู สุกี้ ในปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10% เหตุผลหลักมาจากเทรนด์สุขภาพที่ผู้บริโภคใส่ใจมากขึ้นและราคาที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการ ทั้งนี้ ในส่วนของราคานั้น ปัจจุบันมีการแข่งขันเรื่องราคาสูงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่เป็นบุฟเฟต์พบว่ามีการแข่งขันและตัดราคากันสูงมาก ซึ่งทำให้ประเมินได้ว่า หากการแข่งขันราคามีความรุนแรงมากขึ้นจนเกินไปแล้วจะส่งผลกระทบต่อตลาดรวมเช่นเดียวกับตลาดรวมของร้านหมูกระทะอย่างที่ผ่านมา ท้ายที่สุดแล้วผู้ประกอบการก็จะอยู่ยากขึ้นเอง หรือคาดว่าอีกภายใน 5 ปีกลุ่มสุกี้ชาบูจะมีอยู่ไม่เกิน 6 แบรนด์เท่านั้นที่มีกำลังพอจะสู้ในตลาดได้

“กลุ่มสุกี้ ชาบู ประเภทบุฟเฟต์ที่ผ่านมาและตอนนี้แข่งขันด้านราคาสูงมาก หรือนำเสนอแบบตัดราคากัน ในราคาที่ต่ำกว่า 200-300 บาท ซึ่งในระยะยาวมองว่าจะอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะแบรนด์โลคัล และร้านของผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป คาดว่าใน 5 ปีอาจจะต้องปิดตัวลงและหายไปจากตลาด ทั้งนี้ ระดับราคาที่จะทำให้บุฟเฟต์อยู่ในตลาดได้ควรอยู่ที่ 400-600 บาทขึ้นไปต่อคน หรือจับตลาดบนเลย รวมถึงแบรนด์ที่มีสายป่านยาวเป็นอีกกลุ่มที่ยังอยู่ในตลาดได้”
 
*** “นีโอ” จ่อลุยฟาสต์ฟูดจาก ตปท.
นายณัฐพลกล่าวต่อว่า ในส่วนของนีโอ หลังรีแบรนดิ้งไปเมื่อปีก่อน จากนี้จะเน้นทำธุรกิจแบบบริหารความเสี่ยง และใช้กระแสเงินสดในการลงทุนเป็นหลัก โดยในช่วง 5 ปีจากนี้(2561-2565) พร้อมใช้งบ 150 ล้านบาท แบ่งเป็นขยายสาขา 100 ล้านบาท และเพิ่มโรงงานผลิตอีก 50 ล้านบาท หรือภายในปี 2565 จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท และเข้าตลาด MAI เพื่อระดมทุนในการขยายสาขาและแตกแบรนด์ใหม่ๆ ออกมา ขณะที่ปี 2561 นี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเติบโต 12-15% หรือมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 370 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวมประมาณ 330 ล้านบาท
 
ปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารอยู่ 3 แบรนด์ คือ 1. นีโอ สุกี้ มีทั้งหมด 20 สาขา โดยสาขาล่าสุดเปิดให้บริการที่เซ็นทรัล แจ้งวัฒนา ครึ่งปีหลังนี้จะเปิดอีกอย่างน้อย 1 สาขา ที่เซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ทั้งนี้ วางแผนขยายเพิ่มปีละ 2 สาขา 2. กังฟู เป็นร้านอาหารหมูตุ๋น หม้อไฟ 1 สาขา ที่ตึกมิดทาวน์ และ 3. ซุนวู เป็นบาร์บีคิว ปิ้งย่าง 1 สาขาที่เดอะ พาร์ค ราชพฤกษ์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีนี้จะเพิ่มแบรนด์ใหม่เข้ามา ซึ่งจะมาจากแถบยุโรปและอเมริกา เป็นหลัก ในกลุ่มฟาสท์ฟูด และแกร็บแอนด์โก โดยไม่ซ้ำไลน์กัน หรือ 5 ปีนี้น่าจะมีทั้งหมด 7-8 แบรนด์ รวมถึง บุฟเฟต์ ชาบู บายนีโอ ที่จะจับตลาดบนด้วย
 
***“เปปเปอร์ ลันช์” เปิดโมเดลใหม่ขยายฐาน
นางอรวรรณ โกมลพันธ์พร ผู้อำนวยการอาวุโสแบรนด์เปปเปอร์ ลันช์ บริษัท เซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์การค้าหลายแห่งได้ปรับกลยุทธ์ด้านพื้นที่ศูนย์ฯ โดยดึงร้านอาหารดังๆ ที่อยู่นอกห้างเข้ามาเปิดบริการมากขึ้นเพื่อดึงความสนใจให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นเพราะลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารในศูนย์ฯ ทั้งที่เป็นเชนและไม่ได้เป็นเชนเพราะลูกค้าที่ต้องแข่งขันด้านลดราคามากขึ้นเพื่อแย่งลูกค้ากัน

ในส่วนของเปปเปอร์ลันช์เองก็จัดทำโปรโมชันส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง เช่น ทุกวันจันทร์ลดราคา 20% และทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไปถึงร้านปิด จัดโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 เป็นต้น

นอกจากนั้น ได้เปิดตัวโมเดลใหม่เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าทั้งในด้านทำเลและระดับลูกค้าด้วยอีก 2 โมเดล คือ 1. เอ็กซ์เพรส พลัส พื้นที่ประมาณ 90-100 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 5-6 ล้านบาท มีประมาณ 20 เมนู ราคาถูกกว่าโมเดลร้านอาหาร 20% มี 1 สาขาแล้วที่โรบินสันราชบุรี และ 2. เอ็กซ์เพรส ฟูดคอร์ด พื้นที่ประมาณ 20 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท มีประมาณ 15 เมนู จะมีราคาถูกกว่าร้านอาหาร 30% ขณะนี้มี  4 สาขาแล้ว คือที่ เซ็นทรัลบางนา เมกาบางนา สยามเซ็นเตอร์ และฟู้ดเฮฟเว่นที่เทสโก้โลตัสบางใหญ่ จากเดิมมีโมเดลเดียวคือ ร้านอาหารหรือเรสเตอรองต์พื้นที่ประมาณ 100-120 ตร.ม. ลงทุนประมาณ 8-10 ล้านบาท มีประมาณ 40 เมนู

แผนปี 2561 นี้ใช้งบรวม 100  ล้านบาท เปิดสาขารวม 10 สาขา ครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 4 สาขา คือ วิลลาอารีย์ เซ็นทรัลพัทยาบีช โรบินสันราชบุรีเป็นแบบเอ็กซ์เพรสพลัส เทสโก้โลตัสพลัสบางใหญ่ และย้ายทำเลที่แฟชั่นไอสแลนด์ ส่วนครึ่งปีหลังจะเปิดร้านเพิ่มอีก 5 สาขาเพื่อให้สิ้นปีมีจำนวนครบ 40 สาขา และคาดว่าสิ้นปีจะมีรายได้รวม 520 ล้านบาท เติบโต 30% จากปีที่แล้ว

“การขยายเพิ่มอีก 2 โมเดลใหม่นี้ทำให้เราสามารถขยายไปยังต่างจังหวัดรวมทั้งขยายฐานลูกค้าในกลุ่มระดับกลางลงมาได้มากขึ้นด้วย จากเวลานี้มีต่างจังหวัดแค่ 4 สาขาเท่านั้น โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 200 บาทต่อคนต่อครั้ง และมีลูกค้าเฉลี่ย 200,000 คนต่อเดือนทุกสาขารวมกัน” นางอรวรรณกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น