xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจ้าท่าตั้ง กก.สอบสินบน 20 ล้านเอกชนญี่ปุ่นจ่ายสร้างท่าเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอม ลั่น 7 วันรู้ผล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเจ้าท่า ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงกรณีเจ้าหน้าที่รัฐรับสินบน 20 ล้านบริษัทญี่ปุ่น ก่อสร้างท่าเรือชั่วคราวโครงการโรงไฟฟ้าขนอม คาด 7 วันรู้ผล หากมีมูลตั้งสอบวินัยร้ายแรง ยันเอาผิดย้อนหลังได้ ขณะที่ “ไพรินทร์” ลั่นห้ามมีทุจริต ใครทำผิดจะต้องรับผิดชอบ

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีข่าวสำนักงานสืบสวนพิเศษของอัยการกรุงโตเกียว สืบสวนพบว่าบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ ประเทศญี่ปุ่น (MHPS) ได้จ่ายสินบน ให้เจ้าหน้าที่รัฐของไทย 20 ล้านบาท โดยเกี่ยวข้องกับก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม เมื่อปี 2556 ว่ากระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่ชัดเจน ว่าจะมีการทุจริตไม่ได้ และหากใครทำจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรณีเงินสินบนเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าขนอมนั้นเป็นเรื่องที่เอกชนขอสร้างท่าเรือชั่วคราวขึ้นมาและหลังจากเสร็จโครงการ ได้ถอนท่าเรือชั่วคราวออกเป็นกรณีเฉพาะ โดยหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง ต้องลงโทษแน่นอน

“จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการใช้อำนาจรัฐ แต่ไม่ได้ใช้โดยถูกต้อง ทำให้เกิดช่องว่าง เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโรงไฟฟ้าไม่ได้มีการสร้างกันตลอดเวลา อย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีกฎหมายคล้ายๆ กับอังกฤษ สำหรับบริษัทที่ปฏิบัติไม่ชอบในต่างประเทศ หากตรวจพบและมีการยอมความกันกับรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้กฎหมายญี่ปุ่นจะลงโทษเฉพาะทางแพ่ง ยกเว้นโทษวินัย โดยจะต้องส่งข้อมูลด้านทุจริตให้กับประเทศนั้นๆ ซึ่งจะมีข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่จะต้องมีการส่งข้อมูลกัน ดังนั้น หากเรื่องทุจริตนี้ส่งมาที่เราจะต้องตรวจสอบและลงโทษตามระเบียบ เชื่อว่าในอนาคตจะไม่กล้าทุจริตแล้ว เพราะจะมีการเปิดเผยข้อมูลจากหลายฝ่าย”

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ในวันนี้ (19 ก.ค.) กรมเจ้าท่าได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบ 7 วัน จะทราบผลว่ามีประเด็นใดที่เจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง และหากพบว่ามีมูล หรือเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าไปเกี่ยวข้องอย่างไรจะตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยซึ่งจะมีการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง แม้จะเป็นเหตุเมื่อปี 2556 แต่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้

“ป.ป.ช.ได้ขอข้อมูลจากกรมฯ แต่เป็นเรื่องทั่วไป เรื่องอำนาจหน้าที่ ขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบ ยังไม่ทราบผลซึ่งเป็นเรื่องทางอาญา ส่วนกรรมการที่กรมเจ้าท่าตั้งจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินัย ทั้งนี้ กรณีนี้เป็นโครงการใหญ่ ที่เกี่ยวข้องกับหลายส่วน ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด โดยกรมเจ้าท่าจะต้องดูว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องตรงไหน เช่น เรือที่เข้าเทียบท่า ตรวจสอบจำนวนเที่ยว การแจ้งเข้าออกว่าดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายกำหนดหรือไม่, ตัวท่าเรือชั่วคราวมีการอนุญาตตามระเบียบข้อบังคับหรือไม่”

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เคยขอข้อมูลจากกรมเจ้าท่าแล้ว เช่น กรณีท่าเทียบเรือ เรือที่เข้าเทียบท่าโดยกรมเจ้าท่าได้ส่งเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายให้ข้อมูลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่าในการอนุญาตเรือว่าตรงไหนเป็นอำนาจของกรมเจ้าท่า ตรงไหนเป็นอำนาจของจังหวัด แต่ยังไม่มีการเรียกเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าไปสอบ

“ไพรินทร์” สั่งกรมเจ้าท่าทบทวนกฎหมาย ปรับแก้ภารกิจให้ทันสมัย

อย่างไรก็ตาม นายไพรินทร์ได้ติดตามงานของกรมเจ้าท่า โดยได้หารือถึงภารกิจ ระเบียบ ข้อกฎหมายของกรมเจ้าท่า ซึ่งพบว่ายังมีความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่ ยังดำเนินการไม่ได้ตามที่สังคมคาดหวัง ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า ทบทวนภารกิจ และกำหนดกรอบ หลักการและเหตุผล ขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติม โดยให้เร่งสรุปประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป เป้าหมายจะต้องปรับปรุงการทำงานของกรมเจ้าท่าให้ทันสมัย เป็นเจ้าท่า 4.0

“กรมเจ้าท่าเป็น Regulator ด้านการขนส่งทางน้ำ แต่ภารกิจตามกฎหมายอาจยังไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง ให้ไปดูว่าประเด็นใดที่อำนาจหน้าที่ทางกฎหมายมีและเหมาะสมแล้ว ประเด็นใดที่ยังไม่ได้กำหนดในอำนาจหน้าที่บ้าง เช่น ในอดีตไม่มีประเด็นเรื่องเทคโนโลยี ไม่มีระบบเรดาร์ติดตามกองเรือแบบเรียลไทม์ แต่วันนี้เทคโนโลยีมีมากมาย หรือการบริหารจัดการน่านน้ำที่ 12 ไมล์ทะเลจะเพิ่มหรือไม่ รวมถึงอำนาจในการการกำหนดเรือเข้าออกจากท่า กรมเจ้าท่ามีอำนาจสั่งห้ามหรือไม่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีข้อยุติว่ากรมเจ้าท่าสั่งได้หรือไม่ อย่างกรณีเรือล่มที่ภูเก็ตจะต้องกำหนดกฎหมายให้ชัดเจน และเสนอนโยบายว่าจะปรับปรุง เพิ่มหรือลดอำนาจอะไรบ้างเพื่อให้สอดคล้อง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนกฎหมาย และงบประมาณด้วย” นายไพรินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น