xs
xsm
sm
md
lg

หม่องปลื้มทุนญี่ปุ่นแห่เข้าปักหลัก ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกนครย่างกุ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>บรรยากาศเก่าๆ พิธีกดปุ่มเปิดเฟสแรก 23 ก.ย.2558 ถึงวันนี้มีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศ รวม 84 แห่งเข้าไปปักหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของพม่า ในนั้น 42 แห่งเป็นบริษัทจากญี่ปุ่น เป็นการส่งสัญญาว่า ลมญี่ปุ่นกำลังพัดเลยไป? -- Reuters/Zeya Tun. </b>

MGRออนไลน์ -- ทางการพม่าปลื้มปิติกับข้อมูลตัวเลขการลงทุน ที่ปรากฏออกมาในสัปดาห์นี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa Special Economic Zone) ขึ้นในเขตชานนครย่างกุ่ง สื่อของทางการกล่าวว่า จนถึงปัจจุบันมีบริษัทลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งหมด 84 บริษัท เข้าไปปักหลักลงทุนในนั้น และ น่ายินดียิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ในจำนวนดังกล่าว ครึ่งต่อครึ่งเป็นบริษัทลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ที่ให้การช่วยเหลือรัฐบาลพม่า ในการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจแห่งนี้

ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่น ในหลากหลายอุตสาหกรรม กำลังมุ่งเข้าพม่า โดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น หรือ เจโทร (JETRO - Japan External Trade Organization) เชื้อเชิญและสนองข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ ให้แก่แขนงต่างๆ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นสื่อกึ่งทางการ รายงานเรื่่องนี้ วันอาทิตย์ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา อ้างนายฮิโร ยามาโอะ (Hiro Yamao) กรรมการผู้จัดการเจรโทรประจำพม่า

เจโทรมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อถือให้แก่ นักลงทุนญี่ปุ่น การที่มีรัฐบาลพลเรือนเข้าบริหารประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ได้ทำให้พม่าได้รับความเชื่อถือสูงยิ่งๆ ขึ้น นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจประเทศนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ปัจจุบันพูดได้ว่าบริษัทญี่ปุ่นจำนวน 42 แห่ง ได้เข้าไปปักหลักลงทุน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เพิ่งเปิดดำเนินการ เมื่อไม่นานมานี้

นายยามาโอะกล่าวอีกว่า มาถึงปัจจุบันต้องถือว่า SEZ แห่งนี้ ประสบความสำเร็จมากกว่าเขตเศรษฐกิจ-การลงทุน ประเภทเดียวกันแห่งอื่นๆ ในพม่า หรือ แม้แต่เปรียบเทียบกับในประเทศเพื่อนบ้าน ที่นี่มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมเพรียง ถึงแม้ว่าการก่อสร้างเพิ่งจะแล้วเสร็จไปเพียง 1 โซนก็ตาม

ตามข้อมูลของเจโทร โซน A ของเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาก่อสร้างเสร็จแล้ว และ กำลังก่อสร้างโซน B ที่มีขนาดใหญ่กว่า เนื้อที่มากกว่า และ งานโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยแผนการจะแล้วเสร็จในปี 2561 นี้ มีบริษัทญี่ปุ่นอีก 10-15 บริษัท ได้จับจองโซน B เอาไว้ล่วงหน้า

ระหว่างปี 2557-2559 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่น ในพม่ายังไม่สูงมาก คือ ราว 400 ล้านดอลลาร์เท่านั้น แต่ตัวเลขจะเพิ่มสูงขึ้น จากการลงทุนใหม่ในปี 2560 นี้
กรรมการผู้จัดการเจโทรพม่า เปิดเผยด้วยว่าทุกๆ เดือน จะได้รับคำร้องขอรายละเอียด จากนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉลี่ย 300 กรณีต่อเดือน ซึ่งแสดงให้เห็นความสนใจเข้าลงทุนในพม่า ที่มีสูงมาก
.

.
ติลาวา เป็น SEZ แห่งแรกที่สร้างขึ้นในพม่า อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของกรุงเก่าย่างกุ้ง เป็นผลงานร่วมชิ้นโบว์แดง ระหว่างรัฐบาลพม่ากับ รัฐบาลญี่ปุ่น ที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ รวมทั้งบริษัทการค้าและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย บริษัทมิตซูบิชิ บริษัทมารุเบนิ และบริษัทสุมิโตโม กับหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

ทุกอย่างภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรก จึงเป็นไปตามความเรียกร้องต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น และ เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เขตเศรษฐกิจฯ ติลาวา มีเนื้อที่เต็มโครงการประมาณ 15,000 ไร่ เพียงพอสำหรับเป็นที่ตั้งของโรงงานราว 100 แห่ง สามารถจ้างงานคนงานมากกว่า 40,000 คน ส่วนเฟสแรกที่เปิดให้บริการเดือน ก.ย.2558 มีเนื้อที่เพียง 2,500 ไร่ นายทาโร อาโซะ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น เดินทางไปร่วมพิธีเปิด กับอดีตรองประธานาธิบดีพม่าคนหนึ่ง

ในพม่ายังมีเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง ซึ่งได้แก่เขตจ๊อกพะยู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ในรัฐยะไข่ ที่พัฒนาโดยกลุ่มบริษัทจากจีน กับ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ในเขตตะนาวศรี ที่ลงทุนพัฒนาโดยบริษัทจากไทย

เจโทรเป็นองค์การหนึ่งของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เข้าเปิดสำนักงานในย่างกุ้ง ตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นยุคที่พม่ายังอยู่ใต้การปกครอง โดยระบอบทหาร.
กำลังโหลดความคิดเห็น