xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคม 4 ปี ตอกเข็มรถไฟฟ้า 349 กม. เปิด “สถานีกลางบางซื่อ” ฮับอาเซียน มาตรฐานระดับโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” โชว์ผลงาน 4 ปี เพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้ากว่า 349 กม. เปิดตัวโมโนเรล 2 สายแรกของประเทศ “สีชมพู-สีเหลือง” ชูสถานีกลางบางซื่อ ขึ้นอันดับเบอร์ 1 ศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยมาตรฐานระดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคม เตรียมจัดงาน “One Transport for All 2018 : On the Move” ในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2561 น. ณ ห้องวอเตอร์เกท บอลรูม ชั้น 6 โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “คมนาคม 4 ปี+อนาคต คนไทยได้อะไร?” ที่นำเสนอการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย (พ.ศ. 2558-2565) ในระหว่างปี 2558 ถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความคืบหน้าของแต่ละโครงการใน 4 โหมดการเดินทาง คือ ทางราง ทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และแผนดำเนินงานในอนาคต โครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต่อจากนี้ จนถึงปี 2565

ทั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลากหลายเส้นทางที่มีความคืบหน้าสุดในรอบ 20 ปี โดย จากเป้าหมายโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ตั้งไว้ 464 กิโลเมตร หากย้อนรอยกลับไปดูตั้งแต่เริ่มต้นคือปี 2542 จนถึงปี 2558 พบว่าสำเร็จไปเพียง 84.3 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ทำให้ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าของประเทศไทยได้ขยายเพิ่มได้ถึง 349.8 กิโลเมตร และในปี 2565 โครงข่ายรถไฟฟ้าจะคืบหน้าถึงกว่า 434 กิโลเมตร และจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่พลิกโฉมการเดินทางของไทย

สำหรับรถไฟฟ้ารางเดี่ยว หรือโมโนเรล จะมีการก่อสร้าง 2 สายแรกของไทยซึ่งจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คือ สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี โดยโมโนเรลนั้นมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นระบบขนส่งในเหมืองแร่และได้รับการพัฒนาตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศในเอเชียนิยมใช้โมโนเรล เช่น ญี่ปุ่น มีโมโนเรลหลากหลายสาย เช่น โตเกียวโมโนเรล, โมโนเรล โอกินาวะ หรือเคแอลโมโนเรลของประเทศมาเลเซีย ส่วนที่ประเทศจีนมีฉงชิ่ง เรล ทรานซิต และเร็วๆ นี้ ไทยจะเป็นอีกประเทศที่มีโมโนเรลให้บริการ 2 สาย

ทั้งนี้ โครงข่ายโมโนเรลจะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลักอีกด้วย โดยสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มี เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 4 สาย ได้แก่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี เชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่สถานีหลักสี่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ และเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีมีนบุรี

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีจุดเชื่อมต่อขนส่งมวลชนระบบราง 4 สายเช่นเดียวกัน ได้แก่ เชื่อมต่อรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) บริเวณแยกพัฒนาการ และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีสำโรงนั่นเอง

“สถานีกลางบางซื่อ” ขึ้นแท่นใหญ่สุดในอาเซียน มาตรฐานระดับโลก

สำหรับรถไฟฟ้าแล้ว โครงข่ายที่เป็นแกนกลางเชื่อมการเดินทาง คือ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่เส้นทางพาดผ่านกรุงเทพฯ แนวเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมระบบการเดินทางทั้งในประเทศไทยและอาเซียน เนื่องจากถูกออกแบบรองรับระบบคมนาคมได้อย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางและขนส่งอื่นๆ อย่างสมบูรณ์แบบ กำหนดแนวคิดการพัฒนา คือ “ศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับ ASEAN” และมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (Transit-oriented Development : TOD)

โดยสถานีกลางบางซื่อ มีอาคารสถานีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน โค่นแชมป์อย่างสถานี KL Sentral ของมาเลเซีย เมื่อแล้วเสร็จในปี 2563 สถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีรถไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีมาตรฐานเทียบเท่าสถานีกลางต่างๆ ทั่วโลก

อาคารสถานีกลางบางซื่อ กว้าง 244 เมตร ยาว 596.6 เมตร สูงประมาณ 43 เมตร มี 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300,000 ตารางเมตร ตัวอาคารสถานีมีทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นใต้ดิน เป็นลานจอดรถที่สามารถรองรับได้กว่า 1,700 คัน ชั้น 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว พื้นที่พักคอยผู้โดยสาร เขตร้านค้า พื้นที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และจุดเชื่อมต่อรถโดยสาร ขสมก. และ บขส. ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นชานชาลาของรถไฟสายต่างๆ รวมทั้งหมด 24 ชานชาลาเป็นชั้นชานชาลารถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกลทุกเส้นทาง จำนวน 8 ชานชาลา และชั้น 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟความเร็วสูงทุกเส้นทาง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จำนวน 2 ชานชาลา

ขณะที่อาคารสถานี KL Sentral มีรถไฟให้บริการทั้งหมด 7 สาย และมีชานชาลาทั้งหมด 12 ชานชาลา ทางรถไฟเกือบทั้งหมดอยู่ในระดับดิน และสร้างสถานีคร่อมลงไปยกเว้น LRT Kelena Jaya Line ที่มีชานชาลาอยู่เหนือโถงกลางสถานี โดยเริ่มแรกมีรถไฟให้บริการ 3 สายหลัก คือ KTM Komuter (รถไฟฟ้าชานเมือง) KTM Intercity (รถไฟทางไกล) และ LRT สาย Kelana Jaya ปัจจุบันมีรถไฟให้บริการทั้งหมด 7 สาย และมีชานชาลาทั้งหมด 12 ชานชาลา เป็น KTM Komuter 4 ชานชาลา KTM Intercity 2 ชานชาลา KLIA Ekspres 2 ชานชาลา (รถไฟเชื่อมสนามบิน) และ KLIA Transit 2 ชานชาลา โดย KLIA Ekspres ยังเป็น City Air Terminal สามารถเช็กอินและโหลดกระเป๋าได้ที่สถานี




กำลังโหลดความคิดเห็น