xs
xsm
sm
md
lg

จี้ผู้ก่อสร้างรถไฟฟ้าตั้งเครื่องสูบน้ำใน 15 ก.ค.ทำท่อระบายน้่ำชั่วคราว ลดปัญหาน้ำท่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.จี้ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำท่อระบายน้ำชั่วคราว สร้างบ่อพักน้ำฝน ลดปัญหาน้ำท่วม หลังพบส่วนใหญ่ตัดท่อระบายน้ำออก พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำให้เสร็จใน 15 ก.ค.นี้

วันนี้ (1 ก.ค.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำบริเวณจุดก่อสร้างรถไฟฟ้า ว่า ขณะนี้พื้นที่ กทม.มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า 7 สาย ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีชมพู และ สายสีทอง รวมทั้งหมด 163 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 24 เขต มีจุดก่อสร้างส่งผลกระทบต่อน้ำท่วมและระบายน้ำ 141 จุด ปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่มีการก่อสร้างฐานรากของสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งมีการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานี มีโครงสร้างที่กีดขวางการระบายน้ำบริเวณคูน้ำ บางแห่งผู้รับจ้างจะทำการตัดท่อระบายน้ำออก ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทผู้รับจ้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 113 จุด คงเหลืออีก 28 จุด ที่กำลังดำเนินการอยู่ อีกส่วนหนึ่งการก่อสร้างได้ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวจราจร ทั้งหมด 21 จุด ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 14 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 7 จุด สำหรับการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำได้เร่งรัดให้บริษัทผู้รับจ้างหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในกรณีที่มีการก่อสร้างได้ตัดท่อระบายน้ำทิ้งหรือยกเลิกบ่อพักน้ำ ทางบริษัทผู้รับจ้างต้องดำเนินการทำท่อระบายน้ำชั่วคราว (Bypass) เชื่อมต่อให้น้ำระบายจากผิวจราจรลงสู่ท่อระบายน้ำเดิม รวมทั้งก่อสร้างบ่อพักน้ำเพื่อรองรับน้ำฝน วางท่อระบายน้ำใหม่ทดแทนท่อระบายน้ำเดิมที่ถูกตัดออกไป ซึ่งบางจุดได้ดำเนินการไปแล้ว บางจุดอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่ามีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ทั้งหมด 11 จุด ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 9 จุด คงเหลืออยู่ 2 จุด

“ถึงแม้ว่าบริษัทผู้รับจ้างจะดำเนินการแก้ไขโดยการขุดลอกคูน้ำเพื่อเปิดทางน้ำไหลไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันสำนักการระบายน้ำมีความประสงค์ให้ทางบริษัทผู้รับจ้างติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่ตกแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน หากในกรณีที่ฝนตกในปริมาณมาก ควรจะมีระบบสูบน้ำที่สามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้โดยเร็ว จึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดดังกล่าว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนต่อไป” นายจักกพันธุ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น