xs
xsm
sm
md
lg

กทม.หารือปริมณฑลแก้ “น้ำท่วม” รอยต่อจังหวัด เผยเตรียมระบบระบายน้ำรับมือฤดูฝนแล้ว 9 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. ประชุมร่วม 5 จังหวัดปริมณฑล รับมือ “น้ำท่วม” ช่วงฤดูฝน เผย เตรียมพร้อมระบบระบายน้ำแล้ว 9 เรื่อง ทั้งทำความสะอาดท่อ เปิดทางน้ำไหล เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิง พร้อมร่วมบริหารน้ำท่วมพื้นที่รอยต่อจังหวัด 4 จุดหลัก พหลโยธิน แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน และ แบริ่ง

วันนี้ (5 มิ.ย.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำระหว่าง กทม. ร่วมกับ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นครปฐม ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ และ นนทบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กอ.รมน.กทม. (ฝ่ายทหาร) คณะกรรมการการอาชีวศึกษา กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในช่วงฤดูฝนปี 2561 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายที่อาจเกิดจากน้ำท่วม และเตรียมความช่วยเหลือประาชนที่ได้รับผลกระทบ

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปี 2561 จะเริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของ พ.ค. และสิ้นสุดกลาง ต.ค. ทั้งนี้ ในส่วนของ กทม. ได้เตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำ 9 เรื่อง คือ 1. ทําความสะอาดท่อระบายน้ำในถนน ตรอก ซอย ความยาวรวม 3,297 กิโลเมตร โดยสํานักระบายน้ำ สํานักงานเขต และจ้างเหมาเอกชนดําเนินการ คาดว่า จะแล้วเสร็จใน ก.ค. นี้ 2. เปิดทางน้ำไหล จัดเก็บขยะวัชพืชในคูคลอง ยาว 1,341 กิโลเมตร ขุดลอกคูคลอง 80 คลอง ยาว 100 กิโลเมตร จะเสร็จสมบูรณ์ใน มิ.ย. นี้ 3. เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ จํานวน 698 แห่ง กําลังสูบรวม 2,229 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ 903 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

4. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวัง สามารถระบายน้ำท่วมขัง 482 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และติดตั้งเรือผลักดันน้ำจํานวน 60 ลํา 5. เตรียมความพร้อมอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ระบายน้ำท่วมขัง 195 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที 6. ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิงจํานวน 26 แห่ง เพื่อชะลอน้ำท่วมปริมาณ 13.07 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ 7. จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ กรณีฉุกเฉิน โดยเตรียมกระสอบทราย 2.79 ล้านใบ รถเครื่องกําเนิดไฟฟ้า 18 คัน 8. จัดเตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST รวม 108 หน่วย เจ้าหน้าที่ประจําหน่วยรวม 700 คน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังจัดหน่วยบริการฉุกเฉินเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหา เนื่องจากน้ำท่วมขังประจําทุกสํานักงานเขต และ 9. ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนและสื่อมวลชน รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำชํารุด อุดตัน และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับน้ำท่วมขัง 24 ชั่วโมง ผ่านสื่อต่างๆ เช่น ป้ายจราจรอัจฉริยะ จ.ส.100 รายการร่วมด้วยช่วยกัน เว็บไซต์ กทม. http://www.bangkok.go.th เว็บไซต์สํานักการระบายน้ำ http://dds.bangkok.go.th เฟซบุ๊ก @BKK_BEST เป็นต้น

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า หากมีสถานการณ์ฝนตกหนักและเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม. มีแผนปฏิบัติการ 9 ขั้นตอน คือ 1. ติดตามสถานการณ์ 2. เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้ง เครื่องสูบน้ำตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม 3. ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง บ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำ 4. แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร Trunked Radio แจ้งเตือนสํานักงานเขตผ่านวิทยุสื่อสารเครือข่าย “อัมรินทร์” แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตํารวจ สื่อมวลชน) 5. ส่งหน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจําจุดเสี่ยงและจุดสําคัญ เพื่อเร่งระบายน้ำและแก้ปัญหาด้านการการจราจร 6. หน่วยงานภาคสนาม (ผู้บริหาร สนน./หน.หน่วยฯ) ลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมทราบ 7. เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤต โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิม 8. ประสานงานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตํารวจเพื่อช่วยอํานวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม / ทหาร ช่วยเหลือประชาชน หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้ เป็นต้น และ 9. ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียล

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่รอยต่อจังหวัดปริมณฑล มีการประสานการดําเนินการร่วมกันกับจังหวัดปริมณฑลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 จุดหลัก คือ 1. ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าเซียร์รังสิตถึงบริเวณแยกลําลูกกา 2. ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปาถึงศูนย์ราชการ พื้นที่รอยต่อ กทม.และนนทบุรี 3. ถนนงามวงศ์วานบริเวณซอยชินเขต 2 ถึงคลองประปาและหมู่บ้านชินเขต และ 4. ถนนสุขุมวิทบริเวณสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง ซอยลาซาล และซอยแบริ่ง รอยต่อ กทม.และสมุทรปราการ ซึ่ง กทม. จังหวัดปริมณฑล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันปรับปรุงระบบระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สร้างประตูระบายน้ำ เสริมผิวจราจร เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมขังจากปริมาณน้ำฝน ซึ่งมีทั้งที่ดำเนินการแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างดำเนินการ



กำลังโหลดความคิดเห็น