xs
xsm
sm
md
lg

“ทีเส็บ” ผนึก “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ชูไมซ์สร้างเศรษฐกิจสู่ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” มุ่งหวังนำอุตสาหกรรมไมซ์ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พร้อมพัฒนาจุดหมายใหม่ในการรองรับงานประชุมฝึกอบรม จัดกิจกรรมเรียนรู้ ศึกษาดูงานในประเทศ ขานรับนโยบายรัฐบาลในการใช้อุตสาหกรรมไมซ์สร้างรายได้เพิ่มและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

นายจิรุตถ์อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ทีเส็บในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการจัดประชุมงานแสดงสินค้า และการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรืออุตสาหกรรมไมซ์ มีความประสงค์ที่จะส่งเสริมและพัฒนาแหล่งศึกษาดูงานใหม่ๆ ในประเทศ และเล็งเห็นว่าชุมชนสหกรณ์มีศักยภาพที่จะทำได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกหลักอันหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้เพิ่ม ช่วยกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยเฉพาะในเมืองรองและชุมชนรายย่อย

ทีเส็บร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” ขึ้น โดยจะทำการคัดเลือกชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นจุดหมายใหม่สำหรับธุรกิจไมซ์รองรับการจัดงานประชุม ศึกษาดูงาน และจัดกิจกรรมเรียนรู้ พร้อมกับใช้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการจับคู่ธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

“โครงการไมซ์เพื่อชุมชนนี้ นับเป็นความร่วมมือกันเป็นครั้งแรกระหว่างทีเส็บและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในการที่จะช่วยกันส่งเสริมและพัฒนา ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนสหกรณ์อันประกอบด้วยสมาชิกเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยทีเส็บจะเชิญชวนภาคีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และภาคสังคมต่างๆที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายอนาคตไทยเข้ามาร่วมพัฒนาต่อยอดกับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งในเรื่องของการจัดประชุม ศึกษาดูงานนอกสถานที่ การอุดหนุนสินค้าพื้นถิ่น การเข้าไปจัดกิจกรรมส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ตลอดจนการเข้าไปแบ่งปันความรู้ร่วมกับชุมชนเช่น ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต” นายจิรุตถ์กล่าว

ทีเส็บ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังได้จัดกิจกรรมแฟมทริปเปิดตัวโครงการ “ไมซ์เพื่อชุมชน” โดยเชิญชวนผู้แทนองค์กรธุรกิจจากเครือข่ายอนาคตไทยและสื่อมวลชน จำนวน 60 ราย เดินทางไปเยี่ยมชมความพร้อมของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จ.เพชรบุรี ในฐานะแหล่งศึกษาดูงานและสถานที่จัดกิจกรรม “ไมซ์เพื่อชุมชน” เป็นการนำร่อง และทำการคัดเลือกรวบรวมชุมชนสหกรณ์ที่มีศักยภาพ จำนวน 35 แห่ง จัดทำเป็นคู่มือสถานที่จัดงานไมซ์เพื่อชุมชน กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ และจะจัดทำแคมเปญสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ไปยังองค์กรธุรกิจ สถาบันต่างๆ และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการจัดประชุม ศึกษาดูงาน หรือ กิจกรรมเรียนรู้นอกสถานที่

นอกจากนั้นจะจัดให้มีกิจกรรม Table Top sales จับคู่เจรจาธุรกิจสินค้าในชุมชนกับองค์กรธุรกิจต่างๆ จากเครือข่ายอนาคตไทยและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำร่องให้เกิดการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาต่อไป

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของกรมส่งเสริมสหกรณ์ คือการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทั่วประเทศกว่า 8,171 แห่ง และกลุ่มเกษตรกรอีก 4,924 แห่ง สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรรวมกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5.5 ของประชากรประเทศไทย โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคการเกษตรที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมเกษตรกรที่เป็นสมาชิกผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญหลากหลายชนิด ทั้งสินค้าเพื่อการบริโภค ได้แก่ ข้าว ผักผลไม้ นม กาแฟ ไข่ไก่ โคเนื้อ และสินค้าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและอ้อยซึ่งหากสหกรณ์ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชน และส่งต่อการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

“การจัดทำโครงการไมซ์เพื่อชุมชนในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ มูลนิธิและภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ที่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับสหกรณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในด้านการผลิตสินค้าและบริการ จะได้เปิดพื้นที่ต้อนรับตัวแทนของภาคเอกชนซึ่งเป็นคณะผู้เข้าร่วมประชุมกับทางทีเส็บได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านธุรกิจระหว่างสหกรณ์กับภาคเอกชน คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนต่อยอดธุรกิจให้กับสหกรณ์ ทั้งทางช่องการตลาด การพัฒนาดีไซน์รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ การแบ่งปันความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกสหกรณ์เกิดความเข้าใจและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน อันจะส่งผลทำให้สมาชิกสหกรณ์มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับความเข้มแข็งของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในที่สุด” นายพิเชษฐ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น