xs
xsm
sm
md
lg

ดึงบิ๊กธุรกิจร่วมโครงการพี่ช่วยน้อง จ่อเปิดทางนำเงินมาหักลดหย่อนภาษีฯ ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กสอ.” รับลูกเอกชนเตรียมกำหนดหลักเกณฑ์จูงใจธุรกิจเข้าร่วมโครงการพี่ช่วยน้อง หรือ Big Brother ด้วยการนำเงินลงทุนไปหักภาษีฯ ได้ จ่อเสนอ รมว.อุตสาหกรรมเพื่อชง ครม.เห็นชอบต่อไป พร้อมโชว์ผลสำเร็จโครงการพี่ช่วยน้องที่มีภาคธุรกิจเข้าร่วมกว่า 350 ราย ตั้งเป้าปีนี้ยกระดับเอสเอ็มอีกว่า 2 หมื่นราย สร้างมูลค่าเพิ่มหมื่นล้านบาท

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กสอ.อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจูงใจให้ธุรกิจเข้าร่วมโครงการพี่ช่วยน้อง หรือ Big Brother Guarantee Success Solotion มากขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 350 ราย ตามข้อเสนอของภาคเอกชนเพื่อให้ขยายขอบข่ายความช่วยเหลือให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยให้ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการพี่ช่วยน้องสามารถนำประโยชน์หรือเงินลงทุนที่ช่วยเอสเอ็มอีไปหักค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“ข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ที่เข้าร่วมโครงการพี่ช่วยน้องที่เข้ามาไม่ได้มุ่งเน้นที่จะรับประโยชน์ตอบแทนใดๆ อยู่แล้ว เพราะการเข้ามาช่วยเอสเอ็มอีตามที่ตนเองถนัดบางส่วนก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคม (CSR) แต่เอกชนบางกลุ่มเสนอว่าควรจะกำหนดหลักเกณฑ์จูงใจให้ธุรกิจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น เช่น นำเงินลงทุนไปคำนวณเพื่อหักภาษีได้ ก็จะทำให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้กว้างขวางขึ้น เราก็เลยอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะดำเนินการ” นายกอบชัยกล่าว

ทั้งนี้ โครงการ Big Brother (BB) เป็น 1 ใน 9 มาตรการที่ผ่าน ครม.เมื่อ 19 ธ.ค. 60 เพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ซึ่งการดำเนินงานระยะ 8-9 เดือนที่ผ่านมามีบริษัทขนาดกลางและใหญ่เข้ามาร่วมเป็นพี่ช่วยน้อง โดยแบ่งเป็นส่วนกลางที่เป็นบริษัทที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ 50 ราย ที่เหลือ 300 รายอยู่ในภูมิภาครวมกว่า 350 รายในปัจจุบัน โดยจะทำหน้าที่ร่วมกับ กสอ.ในการยกระดับเอสเอ็มอีใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. Big Brother For ICT เพื่อปฏิรูปผลิตภัณฑ์ การผลิต ทักษะผู้ปฏิบัติ 2. Big Brother For Marketing ช่วยด้านการตลาด สร้างแบรนด์ จับคู่ธุรกิจ 3. Big Brother For CIV หรือหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ฯลฯ 4. Big Brother For Processed Agriculture เน้นเกษตรแปรรูป ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ ซึ่งตั้งเป้าปีงบประมาณ 2561 จะสามารถยกระดับเอสเอ็มอีและเชื่อมโยงการค้าไปยังตลาดสากลได้กว่า 20,000 ราย และคาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเอสเอ็มอีในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

นายชลัช วงศ์สงวน กรรมการผู้จัดการ บ.SCG Skill Development และผู้บริหารโรงเรียนทักษะพิพัฒน์ กล่าวว่า SCG ร่วมเป็น BB ด้าน CIV โดยจะดำเนินการออกแบบบรรจุภัณฑ์และตั้งศูนย์กระจายสินค้าในหมู่บ้าน CIV ไปยังพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการในหมู่บ้าน CIV และวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้บริการเพื่อจัดส่งสินค้าได้ เป็นต้น

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายหน่วยงานพัฒนาตลาดธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมีคอล กล่าวว่า ได้ร่วมเป็น BB ด้านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ICT) โดยจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่กล้วยน้ำไท ภายใต้ชื่อ อาคารต้นคูน เพื่อให้ศูนย์ให้คำปรึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับพลาสติกแก่ผู้ประกอบการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ ฯลฯ

นางสาวอัจฉรา ปิ่ณฑะศิริ ผู้รับผิดชอบโครงการ BB ด้านการตลาดของบริษัทเถ้าแก่น้อย กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการพัฒนาเถ้าแก่น้อยแลนด์เพื่อเน้นตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ขณะนี้มี 14 สาขา ซึ่งจะเปิดให้เอสเอ็มอีที่ร่วมกับ กสอ.มาทดสอบตลาดได้ตั้งแต่ ส.ค.นี้เป็นต้นไป

นายศักดิ์ชัย นุ่นหมิ่น เจ้าของธุรกิจ บ. A Cup of Joe : BB ด้านแปรรูปเกษตร กล่าวว่า บริษัทฯ เน้นแปรรูปผลผลิตด้านกาแฟ ซึ่งได้ร่วมกับสมาคมกาแฟพิเศษในการให้คำปรึกษาแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการปลูกกาแฟ พร้อมทั้งกรรมวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าที่เดิมได้กิโลกรัมละ 60 บาทเป็น 300 บาท และยังรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น